อัพบล๊อกวันนี้ เรายังอยู่ที่เมืองเกียวโต ประเทศี่ปุ่นเพื่อชมใบไม้แดงต่อนะครับ หลังจากบล๊อกที่แล้วเราไปชมใบไม้แดงที่วัดคิโยมิสึ-เถระ มาแล้ว และวันนี้จะพาไปชมใบไม้แดงต่อที่วัดทอง หรือตำหนักทอง หรือ วัดคินคาคุจิ (Kinkakuji Temple) ซึ่งในทุกๆฤดู วัดนี้ก็เป็นที่นิยมมาชมของนักท่องเที่ยวมากมายเสมอครับ ... เรามาถึงวัดทองเมื่อเวลาประมาณ 12.30 น. ซึ่งในฤดูหนาวแบบนี้อากาศสบายๆครับ 10 กว่าองศา
เข้าสู่บริเวณวัดคินคาคุจิ
จอดรถเสร็จก็เดินข้ามถนนเข้าประตูวัดไปเพื่อซื้อบัตรเขาชมในตัวตำหนักทอง คนละ 400 เยน .... ในช่วงปลายพฤศจิกายนแบบนี้ที่นี่เต็มไปด้วยใบเมเปิ้ลสีแดงตระการตาไปหมด แค่ในสวนส่่วนแรกที่เราผ่าเข้าไปก็เพลินกับการถ่ายภาพเสียแล้ว
เข้าสู่ส่วนที่เป็นวัดก่อน
ตัววัดคินคาคุจิที่อยู่ติดตำหนักทอง
ตำหนักทอง หรือชอบเรียกว่าตำหนักทองเป็นอาคารสูง 3 ชั้น 2 ชั้นด้านบนฉาบด้วยสีทอง ... ซึ่งแต่ละชั้นมีโครงสร้างทางสถาปัตย์ต่างกัน
คินคะคุจิ (วัดทอง)
คินคะคุจิ (金閣寺, วัดทอง) เป็นวัดในนิกายเซน ตั้งอยู่ทางเหนือของเกียวโต (Kyoto) ที่มีชั้นบนสุดของตัวอาคารตกแต่งด้วยทองคำเปลวสุกอร่ามตา แต่เดิมนั้น วัดแห่งนี้เป็นที่รู้จักในชื่อโรคุออนจิ (Rokuonji) โดยเป็นบ้านพักสำหรับบั้นปลายชีวิตของโชกุนอะชิคางะ โยชิมิทสึ (Ashikaga Yoshimitsu) และตามเจตน์จำนงค์ของท่าน ได้อุทิศให้กับนิกายเซนลัทธิรินไซ (Rinzai sect) ภายหลังจากที่ท่านสิ้นอายุขัยในปี 1408 คินคะคุจิเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างวัดกินคะคุจิ (Ginkakuji) หรือวัดเงิน ซึ่งก่อสร้างโดยหลานของโยชิมิทสึ นั่นคือโชกุนอะชิคางะ โยชิมาสะ (Ashikaga Yoshimasa) ในอีกสองสามทศวรรษถัดมา โดยตั้งอยู่อีกฝั่งหนึ่งของเมือง
ตัวอาคารวัดทอง หรือ Golden Pavilion
คินคะคุจิสร้างขึ้นเพื่อสะท้อนถึงความหรูหราของวัฒนธรรมคิตายาม่า (Kitayama) ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นสูงที่มั่งคั่งของเกียวโตในสมัยของโยชิมิทสึ ในแต่ละชั้นของอาคารสร้างขึ้นโดยใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมที่ต่างกัน
โดยในชั้นแรกสร้างขึ้นด้วยสถาปัตยกรรมแบบชินเด็น (Shinden) ซึ่งใช้สำหรับการก่อสร้างอาคารของราชวังในสมัยเฮอัน (Heian Period) โดยเสาไม้ธรรมชาติและกำแพงปูนปลาสเตอร์สีขาวของชั้นล่างนี้ ช่วยขับให้ชั้นบนของอาคารซึ่งเป็นสีทองดูโดดเด่นมากยิ่งขึ้น ภายในตัวอาคารชั้นหนึ่งประดิษฐานรูปปั้นพระศากยมุนี (Shaka Buddha) หรือพระพุทธเจ้าผู้ก่อตั้งศาสนาพุทธตามประวัติศาสตร์ และรูปปั้นของโชกุนอะชิคางะ โยชิมิทสึ อย่างไรก็ตาม อาคารนี้ไม่เปิดให้คนนอกเข้าชม แต่คุณยังคงสามารถมองเห็นรูปปั้นทั้งสองได้จากมุมสระน้ำฝั่งตรงข้าม หากพยายามมองเพ่งเข้าไป เนื่องจากหน้าต่างด้านหน้าของชั้นล่างมักจะถูกเปิดเอาไว้เสมอ
ชั้นที่สองของอาคารสร้างขึ้นโดยใช้แนวสถาปัตยกรรมบัคเค (Bukke) ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่ใช้ในการสร้างที่อยู่อาศัยของซามูไร และภายนอกได้รับการตกแต่งโดยการปิดแผ่นทองคำเปลวจนเป็นสีทองสุกอร่ามทั่วชั้นอาคาร ภายในชั้นสองจะประดิษฐานรูปปั้นพระโพธิสัตว์คันนอน หรือพระแม่กวนอิมปางประทับนั่ง รายล้อมด้วยรูปปั้นของท้าวจตุมหาราช (Four Heavenly Kings) ทั้งสี่พระองค์ อย่างไรก็ตาม รูปปั้นเหล่านี้ไม่เปิดให้บุคคลภายนอกเข้าเยี่ยมสักการะ
ชั้นที่สามซึ่งเป็นชั้นสูงสุด ใช้สถาปัตยกรรมแบบนิกายเซนของจีน (Chinese Zen Hall) และปิดทองทั้งภายนอกและภายใน ส่วนบนยอดอาคารมีรูปปั้นหงส์ (phoenix) ทองคำยืนอยู่
สระเคียวโคะจิ หรือสระกระจก
The Golden Pavilion ที่สะท้อนในสระเคียวโคะจิ
สระเคียวโคะจิ หรือสระกระจก
มีตำนานเกี่ยวกับการ์ตูนเรื่องอิกคิวซัง ที่วัดนี้ ว่าวัดนี้เคยเป็นที่พำนักของโชกุนอาชิคางะ โยชิมิซึ (Shogun Ashikaga Yoshimitsu) ผู้ที่ชอบทายปุจฉา – วิสัชนา กับอิกคิวซังในการ์ตูนเรื่องอิคิวซัง เณรน้อยเจ้าปัญญา ก็จำลองเรื่องราวเหตุการณ์ของศาลาทองในวัดนี้ให้เป็นปราสาทของท่านโชกุน (โชกุนอาชิกางะ โยชิมิสึ ( Ashikaga Yoshimistsu )
เดินอ้อมด้านหลังอาคารไปสู่สวน
หลังจากที่ได้ชมคินคะคุจิจากฝั่งสระน้ำแล้ว ผู้มาเยือนจะเดินทางผ่านอดีตที่พำนักของเจ้าอาวาส (โฮโจ) ซึ่งมีชื่อเสียงจากประตูเลื่อนหรือฟุซูมะ (Fusuma) ที่วาดเป็นลวดลายอย่างงดงาม อย่างไรก็ตาม อาคารแห่งนี้ไม่เปิดให้บุคคลภายนอกเข้าชม จากนั้นเส้นทางจะนำคุณผ่านคินคะคุจิจากด้านหลัง ซึ่งจะออกไปสู่สวนของวัดที่ยังคงรักษารูปแบบเดิมเอาไว้ตั้งแต่ในสมัยของโยชิมิทสึ ภายในสวนแห่งนี้ยังมีจุดสนใจอื่นๆ อาทิเช่น สระอันมินทาคุ (Anmintaku Pond) ซึ่งกล่าวกันว่ามีน้ำที่ไม่เคยเหือดแห้ง และรูปปั้นที่เปิดให้ผู้เข้าชมโยนเหรียญเพื่อความโชคดี
เมื่อเดินทางผ่านสวนไป คุณจะพบกับเรือนชงชาเซคคาเทอิ (Sekkatei Teahouse) ซึ่งถูกสร้างเพิ่มเติมในสมัยเอโดะ (Edo Period) เป็นจุดสุดท้ายก่อนที่จะสิ้นสุดพื้นที่ที่ทางวัดเก็บค่าธรรมเนียมเข้าชม ด้านนอกทางออกจะเป็นร้านขายของที่ระลึก และสวนชา (Tea Garden) ซึ่งเป็นสวนเล็กๆ ที่คุณสามารถนั่งดื่มชาและขนมหวาน (500 เยน) และหอฟุโดะ (Fudo Hall) ซึ่งเป็นอาคารขนาดเล็กที่ประดิษฐานรูปปั้นฟุโดะเมียวโอ (Fudo Myoo) หนึ่งในห้าเทพรักษาพระธรรม (Five Wisdom King) และผู้ปกป้องพระพุทธศาสนา กล่าวกันว่ารูปปั้นนี้เป็นผลงานของโคโบ ไดชิ (Kobo Daishi) ซึ่งเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญด้านศาสนาในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น
แหล่งข้อมูล : https://www.th.jal.co.jp/thl/th/guidetojapan/detail/?spot_code=kinkakuji
จากเนินเขาบนสวนมองเห็นหลังคาอาคาร
เดินไปทางออกตรงสวนชงชากำลังมีพิธีกรรมกันอยู่
ทางออกที่เดินลงเนินไปตามบันได
การเดินทาง
คุณสามารถเดินทางไปยังคินคาคุจิ โดยขึ้นรถประจำทางเกียวโต ซิตี้ บัสสายตรงหมายเลข 101 หรือ 205 ที่สถานีเกียวโต (Kyoto Station) ซึ่งจะใช้เวลาเดินทาง 40 นาที และมีค่าใช้จ่าย 230 เยน อีกทางเลือกหนึ่งในการเดินทาง ซึ่งอาจรวดเร็วกว่าและตรงเวลามากกว่า คือโดยสารรถไฟใต้ดินสายคาราสุมะ (Karasuma Subway Line) ไปยังสถานีคิตาโอจิ (Kitaoji Station) ใช้เวลา 15 นาที ค่าตั๋วโดยสาร 260 เยน แล้วนั่งแท็กซี่ต่ออีก 10 นาที ซึ่งจะมีค่าโดยสาร 1,000-1,200 เยน หรือโดยสารรถประจำทาง ใช้เวลา 10 นาที ค่าตั๋วโดยสาร 230 เยน โดยขึ้นรถหมายเลข 101, 102, 204 หรือ 205 จากที่สถานีไปยังคินคาคุจิ
วันนี้พาคุณๆเพลิดเพลินไปกับการชมใบไม้แดงที่วัดทอง ซึ่งสวยงามมากในปลายเดือนพฤศจิกายนเช่นนี้ คิดว่าคุณๆคงได้ชมภาพกันอย่างจุใจนะครับ ส่วนบล๊อกหน้าถือว่าเป็นบล๊อกส่งท้ายในการเที่ยวชมใบไม้แดงในเกียวโตแล้ว คอยติดตามนะครับ
_____ขอบคุณที่ตามอ่านครับ_____
ลาด้วยภาพนี้ครับ