วันพฤหัสบดีที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2558

หนาวหมอก หยอกทุ่งไหหิน ณ ถิ่นเซียงขวาง


หนาวหมอก หยอกทุ่งไหหิน ณ ถิ่นเซียงขวาง  
  
ทริปนี้เกิดก่อนจะปีใหม่ 2015 คือเราตั้งใจจะพาคุณยายไปไหว้พระที่หลวงพระบาง แต่มานึกอีกทีว่าไหนๆ ก็ไหนๆแล้ว ขึ้นทางเหนือของลาวคราวนี้เราน่าไปเยี่ยมเมืองโพนสะหวัน แขวงเชียงขวาง (เซียงขวง) กันหน่อย ถึงจะไม่ได้เที่ยวแบบละเอียดอะไร ก็ขอเอาจุดหลักๆคือทุ่งไหหินไว้ก่อนแล้วกัน ถ้ามีโอกาสค่อยมาเก็บรายละเอียดอีกครั้ง ... นั่นคือที่มาของหัวข้อบล๊อกนี้ คือ "หนาวหมอก หยอกทุ่งไหหิน ณ ถิ่นเซียงขวาง" ครับ


อาคารตรวจคนเข้าเมืองที่สะพานมิตรภาพไทย-ลาว เวียงจันทน์
เราทำแพลนกันคร่าวๆว่าไปลาวคราวนี้ซัก 5 วัน 4 คืน โดยไปพักที่โพนสะหวัน แขวงเซียงขวาง 1 คืน วันต่อไปนั่งรถไพักที่หลวงพระบางอีก 3 คืนก่อนเดินทางกลับประเทศไทย กำหนดการคือ 6-10 ธันวาคม 2557 ... เราติดต่อเช่ารถตู้ในเวียงจันทน์ โดยให้น้องคนไทยที่ทำงานที่ลาวเทล (ลาวเทเลคอม) ที่รู้จักกันเมื่อครั้งเรียน MBA ที่ มข. เป็นคนติดต่อให้ โดยรถเขาคิด 4500 บาทต่อวัน รวมค่าน้ำมันและคนขับพร้อม 

เราอยากได้รถในประเทศลาวเพราะ 1. พวงมาลัยซ้าย (รถขับชิดขวา) 2. คุ้นเคยเส้นทาง 3. คนขับเป็นคนในประเทศลาว ... หลักๆก็เพื่อความปลอดภัยของเรานั่นเอง อีกอย่างเขาจะได้จัดการเรื่องเอกสารที่ด่านให้ด้วย 

ในกรณีที่เราเช่ารถจากบ้านเราเข้าไป รถจะต้องทำประกันภัยและค่านำรถเข้าประเทศที่ด่าน และต้องมีไกด์ที่เป็นคนลาว ซึ่งค่าไกด์ก็จะตกวันละ 1000 บาท และเราคงต้องมีค่าใช้จ่ายในส่วนไกด์พอสมควร ส่วนรายละเอียดของสถานที่เที่ยวแต่ละแห่งนั้น เราศึกษามาแล้วพอสมควร จึงไม่น่ามีปัญหา


เส้นทาง...ตามบล๊อก


วันที่ 6 ธันวาคม 2557 เช้าเรานัดให้รถจากเวียงจันทน์ข้ามมารับเราที่หนองคาย โดยเราจะต้องจ่ายเพิ่มให้เขาอีก 1600 บาท ที่ต้องให้ข้ามมาเพราะสัมภาระเราค่อนข้างเยอะและมีผู้สูงอายุไปด้วย คงไม่สะดวกที่จะขึ้นรถบัสข้ามแดนไปแล้วไปยืนเข้าแถวยื่นประทับตราเอกสารที่ ตม. ฝั่งลาว ซึ่งค่อนข้างช้าครับ



เมื่อผ่านพิธีการผ่านด่านที่ ตม.ลาวแล้ว 



10.00 น เราออกจาก ตม.ฝั่งเวียงจันทน์โดยใช้เส้นทางสาย 13 เลียบแม่น้ำโขงไปทางเมืองปากซัน ก่อนแยกขึ้นเหนือไปเมืองคูณและโพนสะหวัน โดยเขาว่าเส้นทางนี้ใกล้โพนสะหวันที่สุด ... แต่วันที่เราไปเจอถนนที่ชำรุดเนื่องจากหินและดินสไลด์เมื่อฤดูฝนที่แล้ว รวมระยะทางแล้วน่าจะประมาณ 30 กว่ากิโลเมตร (ดูที่ทำเครื่องหมายสีแดงไว้ในแผนที่) เลยทำให้เราถึงโพนสะหวันช้าไปประมาณ 2 ชั่วโมง



ทานมื้อเที่ยงที่ปากน้ำสองสี ปากซัน


ช่วงออกจากปากซัน-เมืองคูณ แรกๆก็พอได้หรอก แต่นานๆเข้า ปรากฏว่าถนนลาดยางกลายเป็นถนนดินซะงั้น สอบถามคนขับก็ได้ความว่า น่าจะพังช่วงหน้าฝนปีที่ผ่านมา สาเหตุก็เกิดจากดินสไลด์ เพราะภูเขาเป็นเขาดินลูกรังแบบแถวๆ อช.น้ำหนาวบ้านเรา บางช่วงนั้นถนนขาดไปเลย ทางการลาวเพิ่งจะถมเสร็จ เครื่องจักรยังคงอยู่แถวนั้น ช่วงนี้แหละรถทำเวลาได้เพียงไม่เกิน 50 กม./ชั่วโมง ... ก็ดีไปอย่าง ไม่รีบ ไม่ต้องกลัวหล่นเขาครับ



ถึงทางแยกเข้าถนนสาย 1D ที่เขาตัดจากโพนสะหวัออกไปท่าแขก (ตรงข้ามนครพนม) จึงเจอทางที่ดีขึ้น แต่ก็มืดซะแล้วเหลือระยะทางให้วิ่งอีกประมาณ 70 กว่า กม. แต่ที่นี่ไม่ใช่เมืองไทยนะครับ 70 กว่านี่อาจจะมี 2 ชั่วโมงเลยล่ะ เพราะทั้งเขาและบ้านคน


จากปากซัน - ทางแยก เจอเส้นทางที่เสียหายจากฝนที่แล้วประมาณ 30 กม.



เข้าทางแยกที่จะไปเซียงขวางตอนเกือบค่ำ..พักเติมน้ำมัน


ราตรีที่โพนสะหวัน


ตอนอยู่ปั๊มน้ำมันเราต้องโทรไปบอกโรงแรมวันซะนะ (Vansana) ที่โพนสะหวันว่า เรามาแล้วแต่อาจจะถึงโรงแรมประมาณ 20.00 น ห้องที่จองไว้ยังเหมือนเดิม ... เรื่องที่พักเราจองผ่าน Agoda ไว้เป็นเดือนแล้ว และก็จ่ายเงินไปหมดแล้ว 



จากเมืองคูณมาเราต่างก็ลุ้นกันเพราะรถวิ่งช่วงกลางคืน แต่คนขับก็โอเค เขาขับไปเรื่อยๆ ที่เรากลัวคือคนมาดักปล้นต่างหาก เพราะที่ลาวถ้าอยู่บนเขา ก็เขาจริงๆ ไม่มีบ้านคนเลย โชคดีที่เราผ่านมาได้แบบปลอดภัย ... ประมาณ 20 นาฬิกาเราถึงโพนสะหวัน ต้องขับรถวนเวียนหาโรงแรมอยู่ประมาณครึ่งชั่วโมงกว่าจะเจอ 



โรงแรมวันซะนะเซียงขวาง ตั้งอยู่บนเขาลูกเล็กๆ แต่ต้องเข้าซอยไป ทางเข้ายังเป็นลูกรังอยู่เลย แต่เมื่อเข้าไปถึงตัวโรงแรมแล้ว ถือว่าโอเคครับ.


บรรยากาศทั่วไปที่โรงแรมวันซนะ (vansana)


หลังจากเก็บสัมภาระเข้าห้องเสร็จเรียบร้อย เราออกไปถามเจ้าหน้าที่ว่าในเมืองมีร้านอาหารท้องถิ่นอร่อยๆไหม คำตอบที่ได้คือร้านน่าจะปิดหมดแล้ว เราเลยสั่งอาหารที่ห้องอาหารในโรงแรมนั่นแหละทานกัน ด้วยความเหนื่อยล้าในการเดินทาง เบียร์ดำครึ่งโหล และไวน์อีกหนึ่งขวดหมดไปแบบไม่ทันได้ระวังตัว ลิ้นเริ่มพัน เมื่ออากาศเย็นลงจนต้องเอาเสื้อกันหนาวมาใส่ เราจึงแยกย้ายกันเข้าห้องพัก ซึ่งจองไว้ทั้งหมด 3 ห้อง ผ่าน Agoda ห้องละ 19xx บาทครับ ... อากาศที่โพนสะหวันวันนั้นหนาวพอควร


 

ยามเช้าที่โรงแรมวันชนะ (Vansana) ที่โพนสะหวัน


เมืองโพนสะหวันเป็นเมืองหลักของแขวงเซียงขวาง (คนลาวออกเสียง เซียงขวง) เป็นเมืองใหญ่พอสมควรครับ สังเกตุดูที่ตลาดเช้าที่มีผู้คนมากมายมาจับจ่ายซื้อของ สิ่งที่เราเห็นเพิ่มขึ้นในลาวใน พ.ศ.นี้คือ คนจีนเยอะขึ้น เมืองใกล้ชายแดนเวียตนามแบบนี้ แทนที่จะเป็นคนเวียตนามเยอะ แต่กลับมีคนจีนเยอะขึ้น



ยามเช้าที่นั่นปกคลุมไปด้วยหมอก ทัศนวิสัยน่าจะ 100 - 200 เมตร ช่วงที่มาถ่ายภาพที่ตลาดนี้เกือบ 9 โมงแล้วยังเจอหมอกปกคลุมอยู่เลย อากาศเย็นสิบกว่าองศา ... เราใช้าเวลาเดินชมตลาดเช้าเพื่อรอให้หมอกจาง จะได้ไปชมทุ่งไหหินต่อ






เซียงขวาง

เชียงขวางเป็นแขวงหนึ่งทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศลาว ติดกับชายแดนประเทศเวียดนาม ประกอบไปด้วยเมืองบริวารทั้งหมด 7 เมือง คือ เมืองเชียงขวาง, เมืองโพนสะหวัน หรือเมืองแปก, เมืองคำ, เมืองหนองแฮด, เมืองหมอกใหม่, เมืองพูกูด และเมืองผาไซ มีจำนวนประชากรปะมาณ 262,200 คน (พ.ศ. 2547) นักท่องเที่ยวจากหลวงพระบางสามารถเดินทางมาเชียงขวางด้วยรถโดยสารประจำทางผ่านถนนลาดยางประมาณ 7 ชั่วโมง แต่สำหรับนักท่องเทียวที่ชื่นชอบความสะดวกสบายสามารถนั่งเครื่องบินจากสนามบินนานาชาติวัดไต ในนครหลวงเวียงจันทน์ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน 

ในอดีตเชียงขวางเคยเป็นสมรภูมิรบอันดุเดือดสมัยสงครามเวียดนาม จุดยุทธศาสตร์ที่กองทัพอเมริกาส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ B-52 เข้ามาระเบิดปูพรมหมายทำลายขบวนการประเทศลาว ทำให้วัดวาอารามและหมู่บ้านน้อยใหญ่ในแขวงเชียงขวางพังทลายลง เห็นได้จากซากของลูกระเบิดตามหมู่บ้านต่างๆ แต่ในปัจจุบันแขวงเชียงขวางได้กลับกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง ด้วยสภาพอากาศเย็นสบายตลอดปี เสมือนเครื่องปรับอากาศธรรมชาติที่วิเศษสุด ตลอดจนวิวทิวทัศน์สองข้างทางอันสวยงาม สถานที่ท่องเที่ยวในเชียงขวางมีมากมายหลายแห่ง แต่โปรแกรมท่องเที่ยวสำคัญที่คุณเองไม่ควรพลาดคือ การไปชมทุ่งไหหินดินแดนอันเป็นปริศนาที่รอคอยการพิสูจน์, เมืองคูณเมืองหลวงเก่า, หมู่บ้านชนเผ่าม้งที่นำซากลูกระเบิดมาทำเป็นรั้วบ้าน และหากมีเวลามากพอห่างจากตัวเมืองโพนสวรรค์ไปไม่ไกล ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าชมอย่างถ้ำปิว, สถานที่หลบภัยของชาวบ้านในสมัยสงครามเวียดนามและหมู่บ้านผ้าทออันขึ้นชื่อ

ปัจจุบันการเดินทางท่องเที่ยวในแขวงเชียงขวาง ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 7 เป็นถนนสายหลัก สามารถนั่งรถสามล้อเที่ยวรอบตัวเมืองได้ ราคาตามแต่ตกลง แต่ไม่สามารถเข้าไปยังทุ่งไหหินและที่เที่ยวนอกตัวเมืองโพนสวรรค์ เพราะทางการลาวเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว เนื่องจากพื้นที่อีกหลายจุดยังไม่ได้ทำการเก็บกู้ระเบิด วิธีที่ดีที่สุดคือการเลือกใช้บริการจากผู้ประกอบการนำเที่ยว การมาเยือนเชียงขวางนอกจากจะเป็นการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์แล้ว ยังได้สัมผัสถึงวิถีชีวิตอันเรียบง่ายตามหมู่บ้านชาวเขาต่างๆ ตลอดจนวิวทิวทัศน์ของทุ่งบัวตองสลับกับภูเขาทุ่งหญ้าสีทอง

อ่านเพิ่มเติม : http://www.louangprabang.net/


Life style in Xieng Khouang


ออกจากตลาดเช้าเราขึ้นไปชมวิวที่โรงแรมภูเวียงคำ (Phou Viengkham) ซึ่งเหมาเอาเขาเล็กๆทั้งลูกเป็นที่สร้างโรงแรม เมื่อขับวนขึ้นไปที่ลานจอดรถด้านบน ซึ่งมีร้านอาหารอยู่ข้างๆ เราจะมองเห็นวิวเมืองโพนสะหวันแบบ 360 องศาเลยทีเดียว แต่เช้าที่ขึ้นไปมีหมอกค่อนข้างมาก เหมือนกับว่าวันนั้นเรายืนอยู่ท่ามกลางก้อนเมฆเลยทีเดียว ... เสียดายรู้จักที่นี่ช้าไป ไม่งั้นเลือกพักที่นี่เลย



ยามเช้าที่โรงแรมภูเวียงคำ (Phou Viengkham)


อนุสรณ์สถานของนักรบลาว



Plain of Jars site #1 office


ประมาณ 9 โมงครึ่งเราก็มาถึงทุ่งไหหินไซต์ 1 (Plain of Jars site#1) เราเอารถไปจอดไว้บริเวณออฟฟิซ เข้าห้องน้ำห้องท่าก่อน (ฟรี) แล้วไปซื้อบัตรผ่านเข้าชม 15,000 กีบต่อคน หรือประมาณ 60 บาท (อัตราแลกเปลี่ยนวันที่ไปเขาคิดกัน 10,000 กีบ/ 40 บาท) เข้าไปอ่านป้ายเส้นทางที่เขาให้เดิน แล้วรถรางแบบที่เห็นในภาพก็ขับไปส่งเราหน้าไซต์ เราจะต้องเดินต่อเข้าไปอี 100 กว่าเมตรเป็นทางขึ้นเนิน ... พยายามเดินตามเส้นทางที่เขาเขียนบอกไว้ตลอด เพราะนี่คือทุ่งระเบิดเก่าด้วย



ไหหินใบใหญ่ที่เป็นไฮไลท์ของไซต์ 1




ทุ่งไหหิน
(The Plain of Jars) 

แหล่งท่องเที่ยวแห่งแรกที่คุณไม่ควรพลาดเมื่อมาเยือนเชียงขวางคือการไปชมทุ่งไหหิน ดินแดนอันเป็นปริศนาว่าสร้างขึ้นมาเพื่ออะไร เพื่อใคร และไว้ทำอะไร แม้ในปัจจุบันก็ยังไม่สามารถหาข้อสรุปให้กับดินแดนแห่งนี้ได้ เล่าสืบต่อกันมาว่าเมื่อประมาณ 2,000 ปีที่แล้ว ไหหินเหล่านี้สร้างขึ้นมาเพื่อไว้ใส่เหล้า ใช้ในงานเฉลิมฉลองหลังจากสงครามเสร็จสิ้น โดยไหใบที่ใหญ่ที่สุดเป็นของกษัตริย์ชื่อว่า ขุนเจือง ส่วนนักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาทำการศึกษาไหหินเหล่านี้เมื่อปี พ.ศ.2473 โดยใช้ช้างเป็นพาหนะและใช้เวลาในการเดินทางในภูมิภาคนี้นานถึงสามปีเต็ม ได้กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของไหหินเหล่านี้ว่า กำเนิดจากอารยธรรมที่รุ่งเรืองเมื่อช่วงเวลา 300 ปีก่อนคริสตการ ถึง พ.ศ.843 น่าจะเป็นอนุสรณ์สถานเนื่องในงานพิธีศพ ส่วนนักโบราณคดีของลาว เชื่อว่าสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นสถานที่อุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว สำหรับกลุ่มไหหินที่มีทางถนนเข้าไปถึงโดยสะดวกในเมืองโพนสะหัวนแขวงเชียงขวาง ซึ่งทางรัฐบาลลาวได้ทำการกู้ระเบิดหมดแล้ว มีอยู่ 3 กลุ่มด้วยกันคือ


กลุ่มที่ 1

ที่ตั้ง: ห่างจากตัวเมืองโพนสะหัวนมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 10 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทาง 15 นาที

มีไหหินกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในทุ่งหญ้าประมาณ 334 ใบ และมีขนาดไหใหญ่มากกว่าในกลุ่มอื่นๆ มาก  ลักษณะเด่นของไหกลุ่มนี้คือขอบไหจะอยู่บริเวณด้านนอก ใบใหญ่ที่สุดมีน้ำหนัก 6 ตัน ตั้งอยู่เนินเขาทางด้านขวามือ ปากไหหันหน้าไปทางสนามบินทุ่งไหหิน บริเวณที่ตั้งของไหหินแห่งนี้นับเป็นจุดชมวิวที่สวยงามมองเห็นสนามบินทุ่งไหหิน กองบัญชาการกองทัพอากาศลาวและตัวเมืองโพนสะหวัน ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของทุ่งไหหินมองเห็น ภูแก็ง แหล่งที่นำหินมาใช้สร้างไหหินกลุ่มที่ 1 ถัดมาทางด้านซ้ายมือมีบันไดปูนเดินลงไปยังทุ่งไหหินอีกจุดหนึ่ง ถ้ามองจากด้านบนจะเห็นไหหินจำนวนเป็นสิบๆ ใบวางเรียงรายอยู่เต็มทุ่งหญ้า

เมื่อเดินลงมาถึงด้านล่างก่อนถึงไหหินอีกกลุ่มหนึ่ง ทางซ้ายมือมีทางแยกเข้าไปถ้ำไห ระยะประมาณ 50 เมตร ภายในถ้ำมีลักษณะเป็นปล่องความสูงประมาณ 60 เมตร ลักษณะภายในถ้ำไม่ลึกมากนักจุคนได้ประมาณ 50-60 คน ในอดีตถ้ำแห่งนี้ลาวเคยใช้เป็นที่หลบภัยสงครามของชาวเมืองเชียงขวางยามเมื่อเครื่องบินมาทิ้งระเบิดพร้อมกับใช้เป็นคลังเก็บอาวุธและเชื้อเพลิงว่าในอดีตใช้เป็นสถานที่เผาศพ เนื่องจากบริเวณแพดานถ้ำมีช่องอยู่ 3 ช่องที่แสงสว่างสามารถส่องลอดลงมาภายในถ้ำ น่าจะใช้เป็นที่ระบายอากาศเวลาเผาศพ แล้วนำกระดูกมาบรรจุไว้ในไหหินบริเวณใก้ลเคียง ถัดจากถ้ำไหเดินต่อมายังบริเวณกลุ่มไหหินด้านล่าง จะพบไหหินจำนวนมากกว่าด้านบนจุดเด่นอยู่ที่ไห 2 ใบ ใบหนึ่งมีฝาปิดอยู่ด้านบน ส่วนอีกใบที่อยู่ใกล้ๆ กันมีรูปคนแกะสลักไม่มีหู

หลังจากนี้คุณสามารถเดินขึ้นไปยังจุดชมวิวที่สวยบนเนินเขาระยะทางประมาณ 500 เมตร ระหว่างทางจะพบไหหิน 2 ใบตั้งอยู่ทางซ้ายและขวา จากจุดนี้สามารถมองเห็นสนามบินได้อย่างชัดเจน เดินต่อมาจนถึงบริเวณด้านบนจะพบไหหินอีก ใบ ลักษณะเป็นที่ราบกว้าง อากาศเย็นสบาย มีเก้าอี้ไว้ไห้นั่งพักผ่อน สามารถชมวิวได้ 360 องศา เหมาะทั้งเป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นและอาทิตย์ลาลับขอบฟ้าที่สวยงาม บริเวณรอบๆ ทุ่งไหหินบนจุดชมวิวจะพบร่องรอยการขุดสนามเป็นแนวยาวเพื่อป้องกันการโจมตีทางอากาศ และหลุมระเบิดขนาดใหญ่หลายหลุมตลอดจนร่องรอยไหหินที่แตกกระจายอันเป็นผลิตผลจากฝูงบิน B-52 ของอเมริกา
กลุ่มที่ 2

ที่ตั้ง: ห่างจากตัวเมืองโพนสะหัวนมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 25 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทาง 35 นาที

กลุ่มที่ 2 ครอบคลุมพื้นที่เนินเขาสองลูก มีไหหินกระจัดกระจายอยู่ในทุ่งหญ้าประมาณ 94 ใบ จากลานจอดรถเดินขึ้นมาตามบันไดปูนมาถึงเนินเขาจุดแรก และหากมองลงมาด้านล่างตรงบริเวณทางขึ้นจะมองเห็นหมู่บ้านนาโคท่ามกลางทุ่งนาอันเขียวขจี จึงเรียกทุ่งไหหินกลุ่มนี้อีกชื่อว่า กลุ่มไหหินนาโค ลักษณะเด่นของกลุ่มนี้อยู่ที่ไหส่วนใหญ่มีขอบอยู่ด้านใน

จากไหหินจุดแรกมีททางเดินลงมาไหหินจุดที่สองระยะทางประมาณ 100 เมตร บริเวณนี้จะพบฝาปิดที่สกัดเป็นรูปคนไม่มีหัว จุดเด่นอยู่ที่ไหใบที่ยาวที่สุดประมาณ 3 เมตร และถ้าสังเกตไหแต่ละใบจะมีหน้าตัดต่างๆ ภายในสกัดเป็นรูปตามโครงสร้างของหินที่ตัดมา บริเวณรอบๆ จึงสามารถพบเศษหินกระจัดกระจายอยู่โดยรออบ และหากคุณเป็นคนที่ชอบการเดินทางชมธรรมชาติ จากจุดนี้มีทางเดินจากไหหินกลุ่มที่ 2 ไปกลุ่มที่ 3 ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทาง 1 ชั่วโมง


กลุ่มที่ 3


ที่ตั้ง: ห่างจากตัวเมืองโพนสะหวันมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 35 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทาง 45 นาที

จากกลุ่มไหหินนาโคถัดลงมาราว 10 กิโลเมตร ผ่านหมู่บ้านเชียงดีมาถึงลานจอดรถ หลังจากนั้นข้ามสะพานไม้ไผ่เดินมาตามคันนาประมาณ 300 เมตร ระหว่างทางจะผ่านผืนนาอันเขียวขจี ฝายกั้นน้ำ ตลอดจนวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของชาวบ้าน มาถึงไหหินลาดค่าย ประกอบด้วยไหหินประมมาณ 150 ใบกระจายอยู่บนเนินเขาลูกเล็กๆ เมื่อมองลงมาจะเห็นวิวทิวทัศน์ของท้องทุ่งนาสีเขียวของหมู่บ้านเชียงดื บนเนินเขาลูกต่อไปได้อย่างสวยงามนอกจากนี้ยังสามารถเดินไปชมไหหินบริเวณอื่นๆ ของกลุ่ม 3 ได้สะดวกเช่นกัน

จุดเด่นของไหหินกลุ่มนี้คือ มีขนาดเล็กกว่ากลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 2 ข้างในถูกสกัดเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมมากที่สุดและนับเป็นจุดชมวิวที่สวยงามอีกแห่งหนึ่ง หากคุณต้องการเดินทางมาเที่ยวชมกลุ่มไหหินทั้ง 3 ไม่สามารถเหมารถสามล้อจากในโพนสวรรค์มาได้ เนื่องจากทางการคำนึงถึงความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว แม้ว่ากลุ่มไหหินทั้ง 3 จะเป็นพื้นที่ปลอดภัยแล้ว แต่ในหลายพื้นของเมืองโพนสวรรค์ยังไม่ได้ทำการกอบกู้ระเบิด ดังนั้นเพื่อความสะดวกปลอดภัยในการท่องเที่ยวคุณควรติดต่อบริษัททัวร์หรือรถยนต์ที่ได้รับใบอนุญาตแล้วจึงจะสามารถนั่งรถเข้าไปในกลุ่มไหหินทั้ง 3 ได้
อ่านเพิ่มเติม : http://www.louangprabang.net/




ทุ่งไหหิน ไซต์ 1




  

ตำนานและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น



เรื่องราวและตำนานของลาวได้เล่าสืบกันมาว่า ครั้งหนึ่งมีการต่อสู้ของยักษ์ซึ่งอาศัยในดินแดนแห่งนี้ ในตำนานท้องถิ่นบอกเล่าถึงกษัตริย์โบราณนามว่า "ขุนเจือง" ซึ่งเข้าปราบปรามยักษ์และต่อสู้กันอย่างยาวนาน ในที่สุดก็สามารถพิชิตศัตรูของเขาได้



กษัตริย์สั่งให้สร้างไหเพื่อชงเหล้าลาวและเพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะ ไหถูกหล่อแบบขึ้นมาโดยใช้วัสดุธรรมชาติ เช่น ดินเหนียว ทราย น้ำตาล และซากพืชซากสัตว์ในรูปแบบหินผสม เป็นต้น โดยสันนิษฐานว่าถ้ำที่ 1 ในบริเวณทุ่งไหหินคือเตาเผา และไหหินยักษ์ถูกเผาที่นี่ ซึ่งจริงๆ แล้วอาจจะไม่ได้ทำมาจากหิน ข้ออธิบายอื่นๆ กล่าวไว้ว่าไหสร้างขึ้นเพื่อเก็บน้ำฝนในฤดูมรสุม โดยใช้สำหรับกองคาราวานซึ่งอาจไม่สามารถหาน้ำได้ระหว่างการเดินทาง



ถ้ำที่ไซต์ 1 ที่คาดว่าเป็นเตาเผาศพ หรือเผาไห ... และหลุมระเบิดอยู่ด้านหน้า


ข้อสันนิษฐาน



ปัจจุบันมีข้อสันนิษฐานกำเนิดทุ่งไหหิน 3 ประการ คือ



1. ตัดมาจากหินก้อนใหญ่จำนวนหนึ่ง ซึ่งทำไว้เพื่อบรรจุคนตายในสมัยก่อน เมื่อพันปีมาแล้ว (ก่อนประวัติศาสตร์ยุคเหล็ก 3,000-4,000 ปี) ตามความเชื่อของคนในสมัยนั้นที่ว่า สถานที่ฝังศพคนตายต้องรักษาไว้ในที่สูง เพื่อหลีกเว้นการเซาะพังทลายจากน้ำต่างๆ ดังนั้นจึงเห็นไหหินอยู่ในสถานที่เป็นเนินสูง



2. เป็นไหเหล้าของนักรบโบราณ คือตามตำนานกล่าวไว้ว่าระหว่างศตวรรษที่ 8 นักรบผู้กล้าหาญของลาวผู้หนึ่ง ชื่อว่าท้าวขุนเจือง ได้ยกกำลังพลไปทำสงครามแล้วก็ได้ชัยชนะอยู่ที่เชียงขวาง หลังจากได้รับชัยชนะแล้ว ก็ได้ทำการฉลองชัยอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 7 เดือน ไหที่เห็นอยู่ในปัจจุบันเป็นไหเหล้าสำหรับเลี้ยงไพร่พลในการฉลองชัยชนะของท้าวขุนเจือง ในคราวนั้น ดังนั้นคนลาวทั่วไปมักเรียกว่า “ไหเหล้าเจือง”



3. เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติเช่นเดียวกับสโตนเฮนจ์ ประเทศอังกฤษ ที่คล้ายคลึงกันคือเป็นหินตั้งกลางแจ้งเช่นเดียวกับทุ่งไหหินที่เชียงขวางนี้แต่มีอยู่ด้วยกัน 3 กลุ่ม





เด็กๆชาวเผ่าแต่งตัวมาถ่ายภาพกับนักท่องเที่ยว



เส้นทางจากเซียงขวางไปภูคูน


ประมาณ 11.45 น เราออกจากทุ่งไหหินไซต์ 1 เพื่อไปหลวงพระบางโดยสถานีจอดแห่งแรกเราคือภูคูน ซึ่งเป็น 3 แยกใหญ่บนเขาที่สามารถแยกไปได้ 3 เส้นทางคือ เวียงจันทน์ (ลงทางใต้) หลวงพระบาง (ขึ้นไปทางเหนือ) และโพนสะหวัน ซำเหนือ (แยกไปทางตะวันออก) ... ใกล้ๆทุ่งไหหินเราเห็นเขาเกรดดินเป็นที่ว่างกว้างขวางเห็นป้ายบอกว่ากำลังทำสนามกอล์ฟ นี่ถ้าเสร็จคงเป็นสวรรค์ของนักกอล์ฟอีกที่หนึ่งเลยล่ะ เพราะอากาศที่เย็นสบายตลอดทั้งปีของที่นี่ คงดึงดูดนักกอล์ฟต่างชาติมาได้เยอะพอควร



บ้านเรือนชาวเขาที่รัฐบาลอพยบลงมาอยู่ใกล้ถนนและพื้นราบ


สองข้างทางช่วงออกมาจากเซียงขวางไม่ไกลเป็นป่าสนแบบน้ำหนาวบ้านเราสวยงามมาก ... บนถนนหมายเลข 7 ในลาวเป็นถนนที่สร้างไว้สมัยฝรั่งเศสเข้ามาปกครองลาว โดยเชื่อต่อเข้าไปในเวียตนามทางตอนเหนือ ลักษณะถนนไม่กว้างนัก ตัดผ่านภูเขาสูง แต่ทำทางลาดเอียง (slope) ไม่สูงนัก อย่างมากก็ 13 องศา จึงทำให้รถบรรทุกวิ่งผ่านได้โดยไม่ลำบากมากนัก



รถเราวิ่งเกือบจะยอดเขาตลอดเวลา ทำให้มองเห็นเขาสลับซับซ้อนกันอยู่ด้านล่าง สมกับคำว่าถนนลอยฟ้าโดยแท้ จขบ.ชอบ เพราะธรรมชาติสวยงามแบบนี้มาก



ทิวทัศน์อันสวยงามระหว่างเส้นทางสู่ภูคูณ


อีกอย่างที่เราพบบ่อยๆในเส้นทางคือบ้านเรือนชาวเขาที่อพยพมาอยู่ริมทาง จากการคุยกับคนขับรถได้ความว่า ทางการพยามจะนำชาวเขาลงมาอยู่ใกล้ถนน หรือ พื้นราบเพื่อให้ง่ายต่อการควบคุม (เรื่องตัดไม้ และฯลฯ) โดยที่ทางการจัดหาไฟฟ้าให้เขาใช้ เป็นต้น เมื่อก่อนที่เราไปหลวงพระบางเจอบ้านที่ฝาไม้ไผ่คลุมดินไว้ คนขับรถ (อีกแหละ) บอกว่านั่นคือภูมิปัญญาชาวเขา คือดินจะรับความร้อนไว้ในตอนกลางกลางวัน และคลายความร้อนออกในตอนกลางคืน (ไออุ่นจากดินทำให้คลายหนาว) เราจึงมักจะเห็นบ้านชาวเขาใช้ดินเป็นพื้นบ้าน โดยเสริมขึ้นมาเพียงแคร่นอนเท่านั้น.


ป้ายโฆษณาที่สามแยกภูคูณ


ถึงภูคูนเอาตอนบ้่าย 2 โมงกว่าๆ ... หิวแล้วสิ อาหารมื้อง่ายๆที่สามแยกภูคูนคือต้มไก่บ้าน คือต้มเฉยๆ จิ้มน้ำจิ้มอีกที เหมือนกับไก่ต้มน้ำปลาบ้านเรา ผัดผัก และตำบักหุ่ง หลังจากทานอาหารเสร็จแล้ว เรายังมีเส้นทางที่ต้องไปต่อถึงเมืองหลวงพระบางพอควร .... แล้วไว้อ่านต่อตอนต่อไปนะครับ





ขอบคุณที่ติดตามอ่านมาจนจบ เจอกันใหม่ในบล๊อกต่อไปครับ




_______________

ไม่มีความคิดเห็น: