วันศุกร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ขับรถเที่ยวอังกฤษหน้าหนาว 3 .... พาไปสัมผัสบรรยากาศงานรับปริญญาที่อังกฤษ.



บล๊อกนี้จะพาคุณๆไปชมบรรยากาศการเข้ารับปริญญาบัตรที่มหาวิทยาลัยนิวคาสเซิ่ล ประเทศอังกฤษกันนะครับ .... ต้องบอกก่อนว่า ผู้เขียนแค่อยากจะเอาบรรยกาศและวิธีการบางส่วนมาเป็นตัวอย่างสำหรับบางท่านที่กำลังจะไปร่วมพิธี หรือเพื่อให้ท่านที่สนใจได้ชมกัน เพื่อเป็นแนวทางเท่านั้นครับ เพราะนี่ก็เป็นครั้งแรกที่เจ้าของบล๊อกได้มีโอกาสเข้าร่วมงานเช่นกัน
เรามาถึงเมืองนี้ตั้งแต่วันที่ 2 ธค. 2017 และเที่ยวที่เมืองเดอรัม และเอดินเบิร์ก ก่อนที่จะมาในงานพิธีของมหาวิทยาลัยที่ลูกชายมาเรียนที่นี่ตั้งแต่ กรกฎาคม 2016 และสำเร็จการศึกษาตามระยะเวลาที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนดในเดือนกันยายน 2017 มีกำหนดการที่เข้ารับปริญาโทวิศวกรรมเคมี ในวันที่ 5 ธันวาคม 2017 ซึ่งเรา 2 คนได้รับเกียรติ์ให้เข้าร่วมในงานในฐานะแขกของลูกชายครับ



Millennium Bridge ที่แม่น้ำไทน์ เมืองนิวคาสเซิ่ล 



ก่อนที่จะไปชมภาพบรรยากาศในงาน ขอนำท่านมารู้จักเมืองนิวคาสเซิ่ลกันก่อนนะครับ
 นิวคาสเซิลอะพอนไทน์ (Newcastle upon Tyne)
 นิวคาสเซิลอะพอนไทน์ (Newcastle upon Tyne) มักจะนิยมเรียกย่อว่า นิวคาสเซิล (Newcastle) เป็นนครและเมืองในเทศมณฑลของไทน์แอนด์แวร์ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอังกฤษ หรืออยู่ทางใต้ของเมืองเอดินเบิร์ก ประเทศสก๊อตแลนด์ประมาณ 166 กม. เมืองนิวคาสเซิลตั้งอยู่บนริ่มฝั่งแม่น้ำไทน์ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ ถึงแม้ว่าในช่วงก่อตั้งนั้นได้ชื่อว่า ปอนส์แอรีอุส (Pons Aelius) ตามชื่อโรมัน และได้เปลี่ยนชื่อเป็นนิวคาสเซิลในปีค.ศ. 1080 หลังจากที่ได้มีการสร้างปราสาท โดยพระเจ้าโรเบิร์ตที่ 2 
ตัวเมืองได้เป็นศูนย์กลางของการค้าขนแกะและต่อมาเป็นเหมืองถ่านหินอันดับต้นๆของประเทศ ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 นิวคาสเซิลได้รู้จักในชื่อของเมืองต่อเรือ โดยเป็นศูนย์กลางการต่อเรือที่สำคัญของโลกแห่งหนึ่ง โดยในปัจจุบันอุตสาหกรรมได้จางหายไป โดยตัวเมืองกลายเป็นแหล่งวัฒนธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ
สัญลักษณ์ที่สำคัญของเมืองได้แก่ นิวคาสเซิลบราวน์เอล เบียร์ชื่อดังของเมือง สโมสรฟุตบอลนิวคาสเซิลยูไนเต็ด สโมสรฟุตบอลในพรีเมียร์ลีก และสะพานไทน์ นอกจากนี้ได้มีการจัดการแข่งขันฮาล์ฟมาราธอนในชื่อ เกรตนอร์ธรันตั้งแต่ปี ค.ศ. 1981
นิวคาสเซิลมีจำนวนประชากรเป็นอันดับที่ 20 ของประเทศ สถาบันศึกษาที่สำคัญของเมืองได้แก่ มหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล และ มหาวิทยาลัยนอร์ททัมเบรียนิวคาสเซิล (Campus) .... ที่เราจะไปร่วมงานคือมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิ่ล ซึ่งตั้งอยู่ตรงกลางเมืองติดกับสถานีรถไฟใต้ดิน แค่เดินข้ามถนนไป และในฝั่งถนนเดียวกันก็มีสนามฟุตบอลของสโมสรนิวคาสเซิ่ลยูไนเต็ดอยู่ติดกับมหาวิทยาลัยเลย.
 แวะชมเมืองกันนิดนะครับ



ย่านใจกลางเมืองนิวคาสเซิ่ลใกล้ Metro


St. Thomas' church ใกล้สถานีรถไฟ Metro



ย่านกลางเมืองใกล้สถานีรถไฟ Main station



Grey's Monument ที่หัวถนนเกรย์



ในมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิ่ล

มหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล ก่อตั้งเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2377 ในฐานะวิทยาลัยแพทย์ขนาดเล็กๆ ต่อมาในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2394 เกิดความขัดแย้งในหมู่อาจารย์จนต้องแยกเป็นสองสถาบัน คือ วิทยาลัยแพทย์นิวคาสเซิล (Newcastle College of Medicine) และวิทยาลัยแพทยศาสตร์และศาสตร์ปฏิบัตินิวคาสเซิลอะพอนไทน์ (Newcastle upon Tyne College of Medicine and Practical Science) จากนั้นในปีต่อมา วิทยาลัยแพทย์นิวคาสเซิล ได้สมทบกับมหาวิทยาลัยเดอแรม และให้ประกาศนียบัตรแพทยศาสตร์เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2399 หนึ่งปีให้หลังจากนั้นวิทยาลัยทั้งสองรวมตัวกันเป็นคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเดอแรม ณ นิวคาสเซิล (ระวังสับสนกับคณะแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเดอแรมในปัจจุบัน)
ต่อมาในปี พ.ศ. 2414 มหาวิทยาลัยเดอแรม วิทยาเขตนิวคาสเซิล (ส่วนงานในขณะนั้น) ได้ขยายสถานที่สอนวิชาวิทยาศาสตร์กายภาพ ตั้งในใจกลางเมืองนิวคาสเซิล ทำการสอนสาขาวิชาคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี และธรณีวิทยาเพื่อรองรับการทำเหมืองแร่ คณะวิชาดังกล่าวต่อมาได้ยกฐานะเป็นคณะวิทยาศาสตร์กายภาพในปี พ.ศ.2426 คณะทั้งสองดำเนินกิจการมาได้ด้วยดีภายใต้การบริหารเดียวกัน วิทยาเขตนิวคาสเซิลของมหาวิทยาลัยเดอแรมเจริญก้าวหน้าตามลำดับจนสามารถสอนด้านแพทยศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ได้ครบเมื่อ พ.ศ. 2461
ในที่สุดมหาวิทยาลัยเดอแรมบริหารงานไม่คล่องตัว จนต้องให้มีพระราชบัญญัติแยกสองสถาบันออกจากกัน โดยวิทยาเขตเดอแรมยังคงเป็นมหาวิทยาลัยเดอแรมต่อไป ส่วนวิทยาเขตนิวคาสเซิล ได้เป็นมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิลอะพอนไทน์
มหาวิทยาลัยนิวคาสเซิลอะพอนไทน์ (University of Newcastle upon Tyne) หรือเรียกอย่างสั้นว่ามหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล (Newcastle University) เป็นสถาบันอุดมศึกษาเน้นวิจัยขนาดกลาง มีความเชี่ยวชาญด้านการสอนและวิจัยทางแพทยศาสตร์ ก่อตั้งขึ้นจากส่วนงานของมหาวิทยาลัยเดอแรมที่แยกออกมาและพัฒนาให้เป็นมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเป็นหนึ่งในสองสถาบันอุดมศีกษาในเมืองนิวคาสเซิล โดยมีจำนวนนักศึกษาทุกระดับน้อยกว่ามหาวิทยาลัยนอร์ทัมเบรีย ณ นิวคาสเซิล
ที่มา : https://th.wikipedia.org

ภายในมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิ่ล


ในงาน Winter Congregation 2017 หรือจะเรียกว่า การมารวมกันของเหล่าบัณฑิต หรือจะเรียกว่าพิธีรับปริญญาบัตรตามที่เรียกบ้านเราก็ตาม ทางมหาวิทยาลัยเขาจะทำหนังสือสอบถามไปที่ตัวบัณฑิตว่าจะมีใครมาร่วมบ้าง (ปกติจะให้บัตรฟรี 2 คน) เขาก็จะออกบัตรให้ตามที่เห็นในภาพ ส่วนคนอื่นๆที่จะตามไปแสดงความยินดีก็สามารถทำได้ แต่ต้องซื้อบัตรพิเศษในราคา 15 ปอนด์ (แพงอยู่นะ) เพื่อเข้าไปนั่งชมวีดีโอในห้องที่เขาจัดให้ หลังจากพิธีก็สามารถเข้าไปร่วมฉลองแบบคอกเทล (cocktail) ซึ่งจัดที่ห้อง Lindisfarne Room ได้ ... ส่วนกำหนดการก็มีพิมพ์ไว้ที่การ์ดหรือตั๋วนั่นแหละครับ
เขาจะมีงานแบบนี้หลายช่วงในแต่ละปีนะครับ ไม่ใช่ครั้งเดียวแบบบ้านเรา .... ซึ่ง winter congregation 2017 นี้ก็มีขึ้นหลายวันเช่นกัน แต่ละวันก็จะรวมเอาไม่กี่สาขาวิชาเพื่อให้แมทช์กับเวลาประมาณ 45 นาทีในฮอลล์ (วันนี้ 5 ธค. 2017 ตามในการ์ดก็จะมี Newcastle Law School, School of Chemical Engineering and Advance Materials, School of Chemistry)


ตั๋วเข้าร่วมงานและกำหนดการในงาน

เพื่อนๆชาวไทยที่มหาวิทยาลัยทั้งโทและเอก











ถ่ายกับ Professor ที่สอนในสาขาวิศกรรมเคมี






กับเพื่อนนักศึกษาจากจีน


บัณฑิตและญาติๆกำลังเดินเข้าสู่ King's Hall ก่อนพิธีการ 15 นาที



King's Hall ห้องทำพิธี (ขอบคุณภาพจากเวป)
(On November 1967 Dr. Martin Luther King received his honorary in King's Hall).

การเข้านั่งในฮอลล์ ซึ่งจุคนได้ประมาณ 500 คน (ดังในภาพ) ญาติๆจะให้นั่งด้านซ้าย ส่วนด้านขวาจะเป็นที่นั่งบัณฑิต และนั่งตามหมายเลขที่นั่งที่เขากำหนดไว้ ในกรณีที่เข้าไปแล้วหาที่นั่งไม่เจอก็สามารถสอบถามเจ้าหน้าที่ได้ครับ ... มุมซ้ายที่นั่งคณาจารย์ก็จะเป็นที่ถ่ายวีดีโอ 

พอได้เวลา (ตามในการ์ดวันนี้คือ 14.00 น.) อธิการบดีกับคณาจารย์ก็เดินเข้าสูห้องโดยเดินเข้ามาทางร่องกลางระหว่าบัณฑิตกับผู้ติดตามสู่แท่นทำพิธีโดยมีคนถือคฑา (ไม่แน่ใจว่าเรียกชื่อถูกไหม?) ที่ปลายยอดคล้ายๆมงกุฎ พร้อมเสียงปี่สก๊อต ... เมื่อคณาจารย์เข้าสู่ที่นั่งจนครบ อาจารย์ก็กล่าวรายงานต่อท่านอธิการบดี จากนั้นท่านอธิการฯก็ขึ้นกล่าว โดยเริ่มจากเรื่องราวของมหาวิทยาลัย ความสำคัญของห้อง King's Hall ตลอดถึงความสำคัญของคณะวิชาที่จะเข้ารับในวันนี้ และแน้วโน้มความสำคัญที่จะเกี่ยวข้องแต่ละสาขาในอนาคต.
ขั้นตอนที่สำคัญก็มาถึง ....
คณะบดีก็จะกล่าวรายงานตัวสั้นๆ ท่านอธิการจะรกล่าวรับรองปริญญาบัตร จากนั้นบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษดีบัณฑิต จะถูกขานคณะและเรียกชื่อโดยคณะบดีประจำคณะนั้นๆ จากนั้นก็จะเดินขึ้นทางด้านขวา โดยถือ Hood ที่ยังไม่สวม (ในภาพด้านล่างคือส่วนที่สีน้ำเงิน) มีอาจารย์เป็นคนคอยเอา Hood ที่บัณฑิตถือขึ้นมาด้วยนั้นสวมให้ แล้วบัณฑิตก็จะเดินเข้าตรงกลางที่โพเดียมที่มีท่านอธิการบดียืนอยู่ และจับมือแสดงความยินดีต่อกัน แล้วเดินลงมานั่งที่เดิม ... บัณฑิตชาวต่างชาติบางคนหลังจับมือแล้วยังชูมือแสดงถึงประมาณว่าจบแล้วประมาณนั้นด้วย .... ขณะที่บัณฑิตถูกขานชื่อแขกก็จะปรบมือให้ หลังจบตัวแทนบัณฑิตก็จะกล่าวขอบคุณ ซึ่งวันนี้เพื่อนของลูกชาย (สาวที่ยืนด้านซ้ายล่าง) สาวโดมิดิกันเป็นตัวแทนกล่าว พอเสร็จท่านอธิการบดีก็ให้โอวาท ... หลังจากนั้นบัณฑิตทั้งหมดก็จะเดินเข้าห้อง Lindisfarne Room ซึ่งเป็นห้องจัดเลี้ยงฉลองแบบ Cocktail โดยใช้เวลาประมาณชั่วโมงเศษๆร่วมกับแขกของบัณฑิตรวมไปถึงผู้ที่ซื้อบัตรเข้าไปแสดงความยินดี .... เป็นอันว่าเสร็จพิธีครับ
ข้อสังเกตุ...งานรับปริญญาที่นั่นเป็นแบบกระชับ เรียบง่าย แต่ดูขลัง ซึ่งรู้สึกได้เมื่อเข้าไปนั่งใน King's Hall การแต่งตัวของบัณฑิตก็ไม่ยุ่งยาก ใส่ชุดที่สุภาพด้านใน สวมทับด้วยเสื้อครุยมหาวิทยาลัย (ครุยส่วนมากก็เช่าเอาจากมหาวิทยาลัย และส่งคืนตอนเเย็นๆของวันนั้น)

จอง DVD






ฉลองในห้อง Lindisfarne Room




หนึ่งวันที่ดีๆสำหรับครอบครัวเราที่มหาวิทยาลัยนิวคาสเซิ่ล ประเทศอังกฤษ ... ยินดีกับเจ้าลูกชายที่สามารถทำความฝันของตัวเองสำเร็จได้ตามเวลาที่กำหนดโดยเป็น 1 ใน 6 คนที่สำเร็จการศึกษา MSc  Applied Process Control  จาก School of Chemical Engineering and Advance Material ในปีนี้ และได้รับ PG Award Distinction จากผลการเรียนด้วย นี่เป็นแค่ก้าวแรกของชีวิต แต่ในความเป็นจริงชีวิตต้องต่อสู้ไปอีกยาวไกล ... หนทางข้างหน้าต้องเจออะไรมากมาย ... ขอให้เดินสู่เป้าหมายได้ด้วยดีนะ.


ปล. มีภาพหลายภาพที่เอามาประกอบการเขียน ผูเขียนยังไม่ได้ขออนุญาตเป็นการส่วนตัว เลยถือโอกาสขอผ่านทางสื่อนี้เลยนะครับ ถ้าขัดข้องประการใดกรุณาแจ้งมาที่ตามอีเมล์ที่ให้ไว้ในลายน้ำของแต่ละภาพ หรือทาง comment ครับ.



ลาด้วยภาพนี้ครับ


________________

ไม่มีความคิดเห็น: