วันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ออนซอนหลวงพระบาง ๓




เที่ยวหลวงพระบางในตอนที่แล้ว (ออนซอนหลวงพระบาง ๒) เราพาไปไหว้พระที่วัดวิชุนราช หรือวิซุนราช (พระธาตุหมากโม) แล้วไปชมน้ำตกตาดกวางสี ก่อนกลับเข้าหลวงพระบางแล้วขึ้นภูสีไปไหว้พระที่พระธาตุจอมภูสี ชมพระอาทิตอัสดงจากยอดเขากลางเมืองหลวงพระบางแห่งนั้น ก่อนจะจบตอนในตลาดมืด (ตลาดกลางคืน) ครับ

ในบล๊อกนี้ก็จะพาเที่ยวหลวงพระบางต่อ ซึ่งเป็นบล๊อกสุดท้ายก่อนที่เราจะอำลาเมืองมรดกโลกแห่งนี้เพื่อเดินทางกลับเวียงจันทน์และหนองคาย วันนี้เราจะพาคุณๆไไปไหว้พระที่ถ้ำติ่ง จากนั้นก็จะพาไปเที่ยวบ้านซ่างไห แล้วไปต่อที่บ้านผานม ชมศูนย์สิ่งทอประมาณว่าโอท้อปของชาวไทลื้อที่นั่น ... ตามไปอ่านเรื่องราวทั้งหมดได้เลยครับ




ทางไปปากอูผ่านมหาวิทยาลัยสุภานุวงค์


เส้นทางไปปากอู


ออกจากหลวงพระบางไปตามเส้นทางหมายเลข 13 ผ่านมหาวิทยาลัยสุภานุวงค์ วิทยาลัยเกษตร ก่อนถึงทางแยกไปปากอู จากทางแยกจากเส้นทางหมายเลข 13 ออกไปถึงปาดอูจะเป็นทางลูกรังสลับดิน แต่มีสะพานคอนกรีตแคบๆให้เราข้ามห้วย หรือคลอง ทางจะเลียบไปกับแม่น้ำโขง (ดังในแผนที่) โดยผ่านปางช้าง บ้านซ่างไห ก่อนจะถึงบ้านปากอู

ระยะทางจากหลวงพระบางไปประมาณ 30 กม. ถึงปากอูจอดรถไว้ในหมู่บ้านแล้วเดินลงไปที่ท่า (ตรงทางลงจะมีร้านอาหารใหญ่ๆหลายร้าน) เช่าเรือข้ามแม่น้ำโขงไปที่ถ้ำ ซึ่งตั้งอยู่บนหน้าผา ค่าเรือ ถ้าไปหลายคนเขาคิดคนละ 10,000 กีบไป-กลับ ถ้าไปคนเดียวก็ 20,000 กีบ (ประมาณ 80 บาท) ถึงทางขึ้นถ้ำต้องจ่ายค่าเข้าชมอีกคนละ 20,000 กีบครับ


ท่าเรือข้ามฟากที่ปากอู



เรือข้ามฟากแม่น้ำโขงไปถ้ำติ่ง

สำหรับท่านที่อยากล่องเรือชมวิวแม่น้ำโขงก็สามารถทำได้ โดยติดต่อเรือที่หน้าวัดเชียงทอง ค่าเช่าประมาณ 2000 บาทต่อเที่ยว ใช้เวลา 2 ชั่วโมงครึ่งในขาที่ขึ้นมาจากหลวงพระบาง และประมาณ ชั่วโมงเศษๆในขากลับครับ


เขาด้านหน้าที่เราจะไป...ถ้ำติ่งอยู่ตรงนั้น



เทียบเรือที่โป๊ะ..ก่อนขึ้นถ้ำ

เรือที่มาจากหลวงพระบางมีเบาะนั่งยังกะรถ



 ถ้ำติ่ง

ถ้ำติ่ง (หรือถ้ำปากอู) ประกอบไปด้วย 2 ถ้ำ แยกขวาไปถ้ำลุ่ม (ล่าง) แยกซ้ายไปถ้ำเทิง (บน) ถ้ำลุ่มหรือถ้ำติ่งล่างนั้น สูง 60 เมตรจากพื้นน้ำมีลักษณะเป็นโพรงถ้ำตื้นๆ มีหินงอกหินย้อยเล็กน้อย เป็นถ้ำที่มีพระพุทธรูปจำนวนมากหลายขนาด ส่วนใหญ่จะเป็นพระยืน มีทั้งปางประทานพร และปางห้ามญาติ ความสำคัญของถ้ำติ่งในสมัยโบราณเป็นที่สักการะบวงสรวงดวงวิญญาณ ผีฟ้า ผีแถน เทวดาผาติ่ง

ถ้ำติ่ง ในวันนี้ยังแสดงถึงยุคแห่งการปฏิวัติความเชื่อของชาวลาวในอดีตที่เคยนับถือผี พระเจ้าโพธิสารราชทรงเลื่อมใสในพุทธศาสนาเป็นผู้นำพุทธศาสนาเข้ามา และทรงใช้ถ้ำติ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนาและมีการค้นพบพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในคริสศตวรรษที่ 18-19 กว่า 2,500 องค์ ส่วนใหญ่ทำขึ้นจากไม้ เมื่อตอนค้นพบใหม่มีพระพุทธรูปจำนวนหนึ่งที่ทำด้วยเงินและทองคำ แต่ถูกลอกออกไปหมด นับแต่นั้นมาถ้ำติ่งจึงเป็นถ้ำที่ศักดิ์สิทธิ์ เจ้ามหาชีวิตแห่งหลวงพระบางต้องไปสักการบูชาพระพุทธรูปในถ้ำ โดยเฉพาะช่วงปีใหม่ลาวทั้งเจ้ามหาชีวิต ข้าราชบริพาร พระสงฆ์ ประชาชนทั่วไปจะเดินทางไปสรงน้ำพระพุทธรูปที่ถ้ำติ่งบนและถ้ำติ่งล่าง จากนั้นจึงไปไปสรงน้ำพระพุทธรูปที่วัดปากอู ซึ่งอยู่ใกล้ๆกับถ้ำติ่งสำหรับถ้ำบนนั้นมีทางแยกซ้ายเดินขึ้นบันไดไป 218 ขั้น สองข้างทางร่มรื่นด้วยเงาไม้ ลักษณะถ้ำติ่งบนเป็นปากถ้ำไม่ลึกมาก มีพระพุทธรูปอยู่ภายในถ้ำแต่ไม่เยอะเท่าถ้ำติ่งล่าง ที่ปากถ้ำมีไฟฉายให้เช่าสำหรับเข้าไปส่องดูภายในถ้ำ

ที่มา : http://www.louangprabang.net/

   
 ลงจากเรือแล้วต้องเดินขึ้นถ้ำ




พระพุทธรูปในถ้ำติ่งที่ยังเหลืออยู่




เรือมารอกลับไปที่ปากอู


คราวก่อนเราขึ้นไปชมถ้ำเทิง(บน) แต่คราวนี้ไม่อยากปีนขึ้นไป เลยไปแค่ไหว้พระที่ถ้ำติ่งใกล้ๆที่จอดเรือ (อ่านเรื่องเที่ยวถ้ำติ่งกับ wicsir ) ... เรากลับมาที่เรือและข้ามฟากไปที่ปากอูเพื่อทานมื้อเที่ยงกันที่เรือนแพ (จำชื่อร้านไม่ได้)

สภาพร้านดูดี สะอาดสะอ้าน อาหารที่ทำออกมาก็น่าทาน แต่ราคาแพงไปนิด หรือเพราะเขาทำขายให้เราซึ่งเป็นชาวต่างชาติก้ไม่รู้ เช่นต้มยำปลาน้ำโขง 50,000 กีบ ปลาลวกจิ้ม 50,000 กีบเป็นต้น ประมาณว่าอาหารจานละ 200 บาททั้งนั้น แต่รสชาตอร่อย ถูกปากคนไทยเลยล่ะ



มื้อเที่ยงที่เรือนแพปากอู


ทานอาหารอิ่มแล้ว เราเดินเข้าไปที่หมู่บ้านเพื่อไปเยี่ยมคนที่น้องเขารู้จัก ซึ่งครั้งก่อนที่เรามาที่นี่ เขาก็เลี้ยงดูเราอย่างดี คราวนี้เราเลยซื้อของฝากมาฝากเขาด้วย .... ในลาวของฝากเขาเรียกกันว่า "เครื่อง" เวลาพูดเขาจะพูดว่า "เอาเครื่องมาฝาก" เขาจะไม่ใช้คำว่า "ของฝาก" เหมือนบ้านเรา เพราะว่าคำว่า "ของ" มันหมายถึงผู้หญิงไม่ดี ประมาณนั้น

ตกเย็นคนในครอบครัวนี้ก็ตามไปเลี้ยงมื้อเย็นให้พวกเราที่บ้านในหลวงพระบางอีกด้วย ซึ่งวันนั้นได้สนทนากับอาจารย์มหาวิทยาลัยที่นั่นด้วย ... ขอบคุณมิตรภาพที่ดีที่มีให้พวกเราทั้งสองครั้งสองคราที่เราไปเยือนเมืองหลวงพระบาง ซึ่งมิตรภาพดีๆแบบนั้นแม้จะมีเงินทองก็หาซื้อเอาไม่ได้...ขอบคุณด้วยใจจริงอีกครั้งครับ อาจารย์เที่ยงและญาติพี่น้องของท่าน







บ้านซ่างไห

ออกจากบ้านปากอูเราเดินทางย้อนกลับไปหลวงพระบาง ระหว่างทาง (จากบ้านปากอูราว 5 กม.) จะมีหมู่บ้านริมน้ำโขงหมู่บ้านหนึ่งชื่อ "บ้านซ่างไห" (ที่จริงเราผ่านตั้งแต่ขามาแล้วล่ะ แต่กักเอาไว้มาเดินเที่ยวตอนขากลับ



บ้านซ่างไห



บ้านซ่างไห เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงเรื่องการต้มเหล้าขาวหรือที่ชาวต่างประเทศเรียกกันว่า “เหล้าลาว (Lau Lao)” แทบทุกหลังคาเรือนจะมีการต้มเหล้าเพื่อจำหน่าย กรรมวิธีการต้มเหล้าก็คือชาวบ้านจะนำน้ำจากแม่น้ำโขงมาผสม ใส่ในข้าวเหนียวแล้วหมักไว้ในไหขนาดใหญ่ เมื่อหมักได้ระยะเวลาตามกำหนดแล้วจึงนำออกมากลั่น ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถชมกรรมวิธีในการต้มเหล้าดังกล่าวได้อย่างใกล้ชิด


เหล้าดอง....



บ้านซ่างไห ไม่ได้มีแต่การต้มเหล้าอย่างเดียวนะครับ ยังมีการทอผ้าอีกด้วย ซึ่งผ้าทอที่นี่ก็สวยงามไม่แพ้ที่อื่นๆในลาว แถมราคายังเป็นกันเองอีกต่างหาก ... วันั้นพวกเราได้มาหลายผืนเหมือนกัน แต่ไม่กล้าลองชิมเหล้าดองสารพัดสัตว์แบบในขวด









บ้านผานม

บ้านผานม ตั้งอยู่ห่างจากเมืองหลวงพระบางไปทางทิศตะวันออกประมณ 4 กม. เวลาที่เรามองจากยอดภูสี จะมองเห็นเจดีย์สีทองตั้งอยู่บนเขา นั่นแหละบ้านผานม มาบ้านผานมนอกจากจะได้ชมงานทอผ้าของชาวไทลื้อ (เผ่าเดียวกับที่พะเยา) แล้วยังได้ไหว้พระที่วัดอีกด้วยครับ ... ท่านสามารถเช่ารถมาจากเมืองหลวงพระบางได้ ส่วนราคาก็ต่อรองกันเอา


ศูนย์หัตถกรรมบ้านผานม


ผ้าชิ้นลายขาวดำนั้นผืนละ 14,000 บาท ... เห็นว่าทำเป็นปี
                               

                                                               
บ้านผานม เป็นหมู่บ้านชาวไทลื้อที่อพยพมาจากเมืองสิบสองปันนา มีประชากรประมาณ 250 ครอบครัว ผู้หญิงชาวไทลื้อชำนาญในการทอผ้า ในอดีตบ้านผานมเป็นแหล่งทอผ้าถวายเจ้ามหาชีวิตและราชสำนัก

ในปัจจุบันบ้านผานมได้รับการยกระดับจากทางการให้เป็น “หมูบ้านวัฒนธรรม”  ผ้าทอมือจากบ้านผานมเป็นผ้าทอที่มีชื่อเสียงมาก มีการรวมกลุ่มตั้งเป็นศูนย์หัตถกรรมแสดงสินค้า มีการสาธิตการทอผ้าด้วยกี่กระตุกแบบดั้งเดิม และยังมีผ้าทอรูปแบบต่างๆ จำหน่ายให้นักท่องเที่ยว ผ้าทอบ้านผานมมีทั้งผ้าแพรเบี่ยงลวดลายแบบลื้อแท้ๆ และผ้าที่ประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ผ้าปูโต๊ะ, ผ้าคลุมเตียง, ผ้ารองแก้วรองจาน ฯลฯ

นอกจากจะเลือกซื้อผ้าทอมือสวยๆจากชาวบ้านที่นำมาจำหน่ายแล้วยังสามารถเที่ยวชมบรเวณโดยรอบหมู่บ้านได้อีกด้วย

สำหรับประวัติความเป็นมาของชาวไทลื้อแหล่งบ้านผานมนั้นมีอยู่ว่าบรรพบุรุษของชาวลื้อบ้านผานมถูกกวาดต้อนมาจากดินแดนสิบสองปันนาครั้งแรกใน พ.ศ. 2390 ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นประเทศราชของไทยอยู่ ในครั้งนั้นกองทัพไทยยกทัพไปปราบจลาจลซึ่งเกิดขึ้นในเมืองหลวงเชียงรุ้งของแคว้นสิบสองปันนา โดยเกณฑ์ทัพเมืองหลวงพระบางซึ่งพระเจ้าสุกกะเสิมเป็นเจ้าครองนครขึ้นไปช่วยหลังปราบจลาจลเรียบร้อยแล้วได้กวาดต้อนครอบครัวอุปราชเชียงรุ้งและบ่าวไพร่ชาวลื้อลงมาไว้ในเขตเมืองหลวงพระบาง

ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2395 สมัยพระเจ้าจันทะราชอนุชาของพระเจ้าสุกกะเสิมเป็นเจ้าครองนครหลวงพระบาง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงวงสาทิราชสนิท เป็นแม่ทัพใหญ่ยกไปตีเมืองเชียงตุง พระเจ้าจันทะราชโปรดให้เจ้าสิริสาโอรสของเจ้าอุ่นแก้ว อดีตเจ้าอุปราชในสมัยพระเจ้าสุกกะเสิม ยกกองทัพเมืองหลวงพระบางไปช่วยรบ โดยทัพหลวงพระบางเดินทัพผ่านเขตสิบสองปันนาเพื่อตีโอบเมืองเชียงตุงทางทิศตะวันออก การศึกครานี้แม้แม่ทัพไทยกับแม่ทัพหลวงพระบางจะพ่ายแพ้กลับมา แต่การเดินทัพกลับก็ได้กวาดต้อนครอบครัวชาวลื้อจากเมืองล่าในเขตสิบสองปันนาลงมาด้วย

ส่วนหนึ่งมาอยู่ในเมืองลาวบริเวณเมืองเงิน แขวงไชยะบุรี บางส่วนเข้ามาถึงเมืองไทยตั้งบ้านเรือนอยู่ในแถบ อำเภอปัว จังหวัดน่าน และอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา สำหรับชาวลื้อที่หลวงพระบางถูกให้ย้ายไปตั้งบ้านเรือนอยู่ริมน้ำคานนอกเมืองหลวงพระบาง และเรียกหมู่บ้านของตนว่า “บ้านผานม” ใช้ฝีมือทอผ้าที่มีมาแต่ครั้นอยู่ในดินแดนสิบสองปันนารับใช้ราชสำนักหลวงพระบาง โดยเป็นผู้ทอผ้าส่งให้เจ้านายในราชสำนักใช้ใส่ในพิธีการต่างๆ แม้ทุกวันนี้ชาวบ้านผานมจะไม่ได้ทอผ้ารับใช้ราชสำนักแล้ว แต่หัตถกรรมผ้าทอจากบ้านผานมกลับมีชื่อเสียงเลื่องลือไกลในความงามและลวดลายผ้าจนเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงที่สุดของเมืองหลวงพระบาง

ที่มา : http://www.louangprabang.net/      




เจดีย์ที่วัดผานม


พระอาจารย์ที่เคยจำพรรษาที่นี่


มองเห็นบางส่วนของหลวงพระบาง


จากบ้านผานม เราเดินทางกลับเข้าหลวงพระบาง เพื่อไปชม "เฮือนจัน" ซึ่งเป็นเฮือนลาวสมัยก่อน บ้านหลังนี้ตั้งอยู่ใกล้ๆกับย่านเมืองเก่า ตรงกลางเมืองเลยก็ว่าได้ แต่เดินเข้าซอยไปหน่อย ตรงข้ามจะเป็นเฮือนพักครับ


ประตูเข้าชมเฮือนจัน



เฮือนจัน


ผู้เขียนพยามหาข้อมูลบ้านหลังนี้ แต่ก็หาได้น้อยมาก ทราบแต่ว่าเจ้าของบ้านหลังนี้เป็นคหบดีผู้มีอันจะกินในลาว จบการศึกษาจากประเทศฝัรั่งเศสและอพยพไปอยู่ที่นั่น ภายหลังได้กับมาอยู่ที่ประเทศลาวแล้ว.

เฮือนจัน เป็นบ้านไม้ ด้านในแสดงเครื่องใช้ (แต่วันที่เราไปเขาปิด) เสาบ้านทำเหมือนบ้านชาวไทลื้อในสิบสองปันนาที่เราเคยไปเห็นมา ( ชมในบล๊อก ) คือเสาบ้านจะทำเป็นไม้กลมๆ วางบนก้อนหิน (ที่สิบสองปันนาหล่อปูนกลมๆไปรองเสาไว้) เคยถามไกด์จีนที่พาเราไปเที่ยว เขาบอกว่า เพื่อให้ง่ายต่อการยกให้สูงขึ้นอีก ในกรณีที่มีน้ำท่วมขัง ซึ่งจริงๆแล้วก็มีเหตุมีผลนะ พเราะว่า ไม่ว่าที่หลวงพระบาง หรือที่สิบสองปันนา ไทลื้อก็อยู่ใกล้แม่น้ำโขงเช่นกัน


เสาบ้านที่ตั้งอยู่บนก้อนหิน..เหมือนบ้านไทลื้อที่สิบสองปันนา


เดินเที่ยวจนเหนื่อย กาแฟซักถ้วยที่ Joma ก็ดีนะ....อยู่ในย่านเมืองเก่า


กลับออกมาจากชมเฮือนจันแล้ว เราก็มาเดินย่านเมืองเก่าอีกครั้ง สิ่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวไทยชอบไปก้คือร้าน Joma Bekery Café ร้านกาแฟ โจมา เบเกอรี่ คาเฟ่ เป็นร้านกาแฟลาวสไตล์ฝรั่งเศสที่ดีที่สุดของลาว มีอยู่สองสาขา ที่เวียงจันทน์ และ หลวงพระบาง ... ไปลองแล้ว ทั้ง เค๊กและกาแฟเยี่ยมเลยครับ ... ร้านหาไม่ยาก ที่หลวงพระบาง ร้านโจมา อยู่ข้าง ๆ ที่ทำการไปรษณีย์ ตรงถนนหน้าทางขึ้นภูสี



เราอยู่หลวงพระบางครบ 3 วัน พรุ่งนี้เช้ามีกำหนดการจะต้องเดินทางไกลอีกแล้ว โดยวางแผนไว้ว่า เช้าตื่นไปตักบาตร (ใส่บาตร) อีกครั้ง แล้วกลับมาทานมื้อเช้าที่โรงแรมวันซะนะ หลวงพระบาง แล้วเดินทางสู่เวียงจันทน์ตามเส้นทางสายใหม่ โดยไม่ผ่านภูคูณ ซึ่งเส้นทางสายนี้สวยงามมาก ... แล้วคอยอ่านเที่ยวลาวปี 2014 เป็นตอนสุดท้ายนะครับ

ขอบคุณที่ตามอ่านมาตลอด




ลาหลวงพระบางด้วยภาพนี้ครับ




ไม่มีความคิดเห็น: