บล๊อกที่แล้วเราพาคุณๆเดินทางตามเส้นทางสาย 12 (ขอนแก่น - พิษณุโลก) และมาไหว้พระและพักที่เมืองสองแคว พิษณุโลก เพื่อเล่นกอล์ฟกับเพื่อนๆที่เคยร่วมงานกัน เมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว ... หลังอาหารเที่ยงวันที่ 11 มีนาคม 2560 เราขับไปพักที่เขื่อนสิริกิติ์ จังหวัด อุตรดิตถ์ และทานมื้อเย็นที่ร้านอาหารของเขื่อน ซึ่งวันนั้นเป็นวันหยุดมีผู้คนทั้งมาเที่ยวและสัมนามากมาย จนดูเหมือนร้านอาหารที่เขื่อนฯในเย็นวันนั้นเนืองแน่นเหมือนร้านในเมืองก็ไม่ผิด .... ส่วนสาเหตุว่าเราจะไปน่านทำไมมาพักที่เขื่อนล่ะ ทำไมไม่ขับไปแพร่ ร้องกวาง และเข้าน่านเลย? ที่เราทำเช่นนั้นเพราะอยากถือโอกาสเล่นกอล์ฟที่สนามเขื่อนสิริกิติ์ในตอนเช้า เพราะไม่ได้มาที่นี่นานมากแล้ว อีกอย่างก็อยากจะลองเส้นทางที่เราไม่เคยมาคือข้ามแพ ไปปากนาย นาหมื่น นาน้อย และน่านด้านนี้บ้างครับ จึงเป็นที่มาของบล๊อก "ข้ามแพ..สู่น่าน" ครับ
ค่ำคืนที่น้ำน่านใต้เขื่อนสิริกิติ์
คืนหน้าร้อนเดือนมีนาคม อากาศที่เขื่อนสิริกิติ์นี้ร้อนเหมือนกัน เรานั่งผ่อนคลายความร้อนพร้อมเบียร์เย็นๆและแกล้มที่ได้จากปลาในเขื่อนสิริกิติ์อย่างได้รสชาต ก่อนที่จะพาตัวเองเข้าพักที่บ้านพักของเขื่อนฯ ที่รังนางนวล และหลับสบายๆ ก่อนที่จะตื่นมาในตอนเช้าเพื่อไปออกกำลังกายที่สนามกอล์ฟในเขื่อนฯ .... สนามแห่งนี้เป็นสนามภูเขา 18 หลุมครับ เวลาเดินขึ้นแท่นทีออฟลำบากพอดู ถ้ากำลังไม่ดีแนะนำให้ใช้รถกอล์ฟนะครับ
สะพานเฉลิมพระเกียรติบรมราชินีนาถ เขื่อนสิริกิติ์
ยามเช้าที่สนามกอล์ฟเขื่อนสิริกิติ์
เขื่อนสิริกิติ์ เป็นเขื่อนดินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เดิมเขื่อนนี้มีชื่อว่า เขื่อนผาซ่อม โดยก่อสร้างปิดกั้นแม่น้ำน่าน บริเวณเขาผาซ่อม ตำบลผาเลือด อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ ภายหลังได้รับพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มาขนานนามเขื่อนว่า เขื่อนสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2511
ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์เขื่อนสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514 งานก่อสร้างตัวเขื่อนและองค์ประกอบได้แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2515
เขื่อนสิริกิติ์ช่วงสายๆ
จากเขื่อนสิริกิติ์ เราขับไปทางตะวันออกไปเข้าถนนสาย 1139 เพื่อไปลงแพข้ามไปที่หมู่บ้านประมงปากนาย ถนนดีครับ ยกเว้นช่วงจะลงแพมีเป็นหลุมเป็นบ่อนิดหน่อย จากนั้นเราเอารถลงแพเพื่อข้ามฟากโดยมีค่าใช้จ่ายคันละ 250 บาท ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง จุดที่ข้ามไปเป็นเขตจังหวัดน่าน ที่หมู่บ้านประมงปากนาย ซึ่งจากตรงนั้นจะมีถนนสาย 1026 ผ่าน อ.นาหมื่น ไป อ.นาน้อย และไปเข้าถนนสาย 101 ที่มาจากร้องกวางที่ อ.เวียงสา ก่อนเข้าสู่น่าน
แพที่ใช้ขนรถข้ามฟากที่นี่ทำแบบง่ายๆตามภูมิปัญญาชาวบ้าน คือเป็นตัวแพแบบในภาพปูด้วยไม้เนื้อแข็ง มีสะพานขึ้น-ลง ทำเสาไว้ทั้งสองด้านเพื่อยกสะพานขึ้นเมื่อแพออกจากฝั่ง .... ตอนแรกก็กลัวเหมือนกันว่าจะปลอดภัยไหมน๊า แต่เมื่อฟังดูจากประวัติที่ผ่านมาแล้วก้ไม่เคยมีเหตุการณ์อะไรร้ายแรงนัก เมื่อนำรถขึ้นเสร็จทั้งสองคัน (คืออีกคันเป็นปิกอัพมาจากกรุงเทพฯ เพิ่งข้ามครั้งแรกเหมือนกัน) ก็ออกมาแกล้งเดินถ่ายภาพด้านอก (แต่ในใจคือกลัว) .... แพเคลื่อนที่โดยใช้เรือหางยาวผูกเชือกแล้วลากไป แต่ขอบอกว่าเขาชำนาญจริงๆ ยิ่งตอนเข้าเทียบท่ายิ่งเก่งครับ สำหรับแพที่ใช้ข้ามมีกันหลายลำเหมือนกัน
แพบรรทุกรถยนต์และใช้เรือหางยาวลากข้ามไปปากนาย
ร้านอาหารสองบัวที่ปากนาย..แวะทานมื้อเที่ยงที่นี่
หมู่บ้านประมงปากนาย ปากนายหมู่บ้านเล็กๆ เดิมเป็นหมู่บ้านริมแม่น้ำน่าน หลังการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ ชาวบ้านอพยพมาจากหลายแห่ง หมู่บ้านปากนายได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อน ซึ่งมีลักษณะเหมือนทะเลสาบขนาดใหญ่ โอบล้อมด้วยทิวเขาเขียวขจี ชาวบ้านปากนายประกอบอาชีพประมง มีแพร้านอาหารให้เลือกชิมปลาจากเขื่อน เช่น ปลากด ปลาบู่ ปลาคัง ปลาแรด ปลาทับทิม เป็นต้น และบางแห่งทำเป็นห้องพักไว้บริการนักท่องเที่ยว เพราะที่นี่เต็มไปด้วยแพของชาวประมงที่มีอาชีพหาปลา และด้วยทัศนียภาพที่งดงามของสายน้ำ รวมถึงอาหารจากปลาที่สดใหม่ จึงได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยือนอยู่เสมอ
จากบ้านปากนายสามารถเช่าเรือล่องไปตามลำน้ำน่านสู่อ่างเก็บน้ำสิริกิติ์ มีทิวทัศน์เป็นป่าเขาสวยงาม เกาะแก่ง เรือนแพ ชาวประมง ในช่วงนอกฤดูฝน จะมีแพลากไปวัดปากนาย สามารถนั่งรับประทานอาหารบนเรือได้ ใช้เวลาประมาณ ๒ ชั่วโมง เพื่อชมสีสันของพระอาทิตย์ตกยามเย็น และมีแพขนานยนต์ข้ามฟากไปยัง อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์😉😉
😉เราถึงเมืองน่านตอนบ่ายๆ เข้าไปเชค-อินที่โรงแรมเวียงภูมินทร์ ซึ่งอยู่ใกล้ๆกับวัดภูมินทร์ และวันนี้เขามีถนนคนเดินที่ถนนผากองข้างๆวัดด้วย เราพักให้หายเหนื่อย ก่อนออกไปไหว้พระที่วัดภูมินทร์และถือโอกาสเดินเที่ยวถนนคนเดินด้วย
เช็ค-อินเข้าที่พักเสร็จ วางแผนการเดินทางในวันต่อไปจากอากู๋แล้วถือโอกาสงีบให้หายเหนื่อยจากการเดินทาง ก่อนที่จะออกไปไหว้พระในตอนใกล้ค่ำ แน่นอนสถานที่แรกที่ใกล้ที่พักเราที่สุดคือ "วัดภูมินทร์"
วัดภูมินทร์
เดิมชื่อ “วัดพรหมมินทร์” เป็นวัดหลวง ตั้งอยู่ในเขตพระนครดังปรากฏชื่อ ตำบลในเวียงในปัจจุบัน เจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2139 ต่อมาอีกประมาณ 300 ปี มีการบูรณะครั้งใหญ่ ในสมัยเจ้าอนันตวรฤทธิ์เดช เมื่อ พ.ศ.2410 (ปลายสมัยรัชกาลที่ 4) ใช้เวลาซ่อมแซมนานถึง 7 ปี
ความสวยแปลกของวัดภูมินทร์ ที่เป็นหนึ่งเดียว คือ เป็นวัดที่สร้างทรงจัตุรมุขหนึ่งเดียวในประเทศไทย ที่ดูคล้ายตั้งอยู่บนหลังพญานาคขนาดใหญ่ 2 ตัว แหนพระอุโบสถเทินไว้กลางลำตัว ตรงใจกลางพระอุโบสถจัตุรมุข ประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ 4 องค์ หันพรพักตร์ออกด้านประตูทั้งสี่ทิศหันเบื้องปฤษฏาค์ชนกัน ประดับนั่งบนฐานซุกชี เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย
อาคารนี้เป็นทั้งพระอุโบสถ พระวิหาร และพระเจดีย์ในหลังเดียวกัน โดยใช้อาคารในแนว ตะวันออก-ตะวันตก เป็นพระวิหาร และอาคารแนว เหนือ-ใต้ เป็นพระอุโบสถ รัฐบาลไทยเคยพิมพ์รูปวัดภูมินทร์ ในธนบัตรใบละ 1 บาท ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง แสดงเรื่องราวชาดก วิถีชีวิตตำสนานพื้นบ้าน และความเป็นอยู่ของชาวน่านในอดีต ได้แก่ การแต่งกายคล้ายผ้าซิ่นลายน้ำไหล การท่อผ้าด้วยกี่ทอมือ การติดต่อซื้อขายกับชาวต่างชาติ สิ่งน่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง คือ บานประตูแกะสลักลึกเป็น 3 ชั้น บนไม้สักทองแผ่นเดียวขนาดใหญ่ ความหนาของไม้ประมาณ 4 นิ้วสลักเป็นลวดลายเครือเถา ที่ทั้งดอกและมีผลระย้า รวมทั้งสัตว์นานาชนิด ฝีมือช่างเมืองน่าน
หอไตรวัดภูมินทร์ ลักษณะ สร้างขึ้นใหม่เลียนแบบของเดิม เมื่อ 5 มีนาคม 2537 อาคารสี่เหลียมทรงสูงสองชั้นก่ออิฐถือปูน มีบันใดภายในตัวอาคาร ชั้นบนมีระเบียง หลังคามีช่อฟ้าใบระกา
ที่มา : www.nan.go.th
วัดภูมินทร์ยามบ่าย
ภาพฝาผนัง "กระซิบรัก" ที่วัดภูมินทร์ โด่งดังไปทั่วโลก
เสร็จจากไหว้พระที่วัดภูมินทร์ เราก็เดินเที่ยวรอบๆบริเวณนั้น ซึ่งด้านข้างวัดที่ถนนผากองตรงหน้า ททท. น่าน กำลังมีผู้คนนำสินค้าและอาหารการกินมาวางบนถนน นัยว่าวันนี้เขาจะมีถนนคนเดินกัน ... ข้ามถนนไปก็จะเป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ จ.น่าน ซึ่งไฮไลท์หนึ่งในนั้นคืองาช้างดำ แต่วันนี้เป็นวันหยุดเราเลยไม่ได้เข้าไปชม (อ่านเรื่องเที่ยวน่านจากบล๊อกที่ผมเคยเขียนไว้..คลิ๊ก ) ติดถนนด้านหน้าพิพิธภัณฑ์จะเป้นถนนคอนกรีตมีซุ้มต้นลีลาวดี หรือ ต้นจำปา ให้นักท่องเที่ยวได้โพสท่าถ่ายภาพกัน
ข้ามถนนไปอีกด้านก็จะเป็น "วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร" ที่ฐานของเจดีย์มีรูปปั้นช้างครึ่งตัวค้ำอยู่ เข้าไปไหว้พพระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี ที่ทำด้วยคำ 65%
วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร
วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร (วัดหลวงกลางเวียง)
อยู่ตรงข้ามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน เดิมชื่อ วัดหลวงกลางเวียง เจ้าผู้ครองนครน่าน พญาภูเข่ง เป็นผู้สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ.1949 พระวิหารหลวงวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร เป็นวิหารขนาดใหญ่ รูปทรง สร้างตามสถาปัตยกรรม ทางภาคเหนือ ลักษณะภายในโอ่โถง ด้านหน้ามีสิงห์คู่ ยืนตรงเชิงบันได ด้านละตัว มีทางเข้า 3 ทาง ประตูกลาง ทำเป็นประตูใหญ่ และประตูเล็ก อยู่ด้านซ้ายและด้านขวา มีทางขึ้นเป็นประตูเล็ก ๆ ตรงข้ามพระประธาน ด้านทิศตะวันออกและตะวันตกอีก 2 ข้าง ทำหลังคาซ้อนกัน 2 ชั้น มุขลดด้านหน้า และด้านหลัง หน้าบัน ตีด้วยแผ่นกระดานเรียงต่อกัน แล้วประดับที่ขอบเสา ด้านหน้าทุกต้น ตามลักษณะ สถาปัตยกรรมล้านนาไทย ภายในพระวิหารกว้างขวาง มีเสาปูนกลมขนาดใหญ่ ขนาด 2 คนโอบรอบ จำหลัก ลวดลายปูนปั้นนูนสูงไว้ เหนือจากระดับพื้นพระวิหาร 1.50 เมตร เป็นลวดลาย กนกระย้าย้อย เหมือนลวดลาย ที่เสาในวิหารวัดภูมินทร์
หน้าวิหารพระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี
พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี
ภายในวัดประดิษฐาน เจดีย์ช้างค้ำ ซึ่งเป็นศิลปสมัยสุโขทัย อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 20 รอบเจดีย์ มีรูปปั้นช้างปูนปั้น เพียงครึ่งตัวประดับอยู่โดยรอบ นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปทองคำปางลีลา คือ พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี ซึ่งเป็นทองคำ 65 % สูง 145 เซ็นติเมตร ยอดพระโมฬีทำเสริมเมื่อ พ.ศ. 2442 หนัก 69 บาท เจ้างั่วฬารผาสุม เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 14 แห่งราชวงค์ภูคา เป็นผู้สร้าง เมื่อวันพุธ เดือน 6 เหนือ พ.ศ. 1969 เป็นศิลปะสุโขทัย ประดิษฐานอยู่ที่หอพระไตรปิฎก ใหญ่ที่สุดในประเทศ
พระธาตุเจดีย์ช้างค้ำวรวิหาร เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีลิกธาตุไว้ภายใน นับเป็น ปูชนียสถาน สำคัญ เป็นเจดีย์ ที่ได้รับอิทธิพลทางด้านศิลปะสุโขทัย จากเจดีย์ทรงลังกา คือเจดีย์วัดช้างล้อมนั่นเอง พระธาตุเจดีย์ สร้างด้วยอิฐถือปูน มีสัณฐานเป็นรูปสี่เหลื่ยมจัตุรัส ซ้อนกัน 3 ชั้น กว้างด้านละ 9 วา ฐานจากชั้นแรกสูงถึงชั้นสอง มีรูปช้างค้ำอยู่ในลักษณะ เหมือนฐานรองรับไว้ด้านละ 6 เชือก รวมทั้งหมด 24 เชือก ช้างแต่ละตัว โผล่ส่วนหัว ลอยออกมาครึ่งตัว ขาหน้าทั้งคู่ ยื่นพ้นออกมาจากเหลี่ยมฐาน เหนือขึ้นไปเป็นฐานปัทม์ (ฐานบัว) ซ้อนกัน 3 ชัน และเป็นองค์ระฆังแบบลังกา ต่อจากองค์ระฆัง ทำเป็นฐานเขียง รองรับมาลัยลูกแก้ว ลดหลั่นกันไป เป็นส่วนยอด ปัจจุบันพระธาตุเจดีย์ช้างค้ำ ได้รับการบูรณะซ่อมแซม และหุ้นด้วยแผ่นทองเหลืองทั้งองค์ มีความสวยงามมาก
อ่านเพิ่ม : www.nan.go.th
เจดีย์ที่มีรูปช้างค้ำเหมือนชื่อวัด
อุโมงลีลาวดีหน้าพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติน่าน
พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติน่าน
ถนนคนเดินที่ถนนผากอง ติดกับวัดภูมินทร์
ของที่ระลึกที่เอามาวางขายบนถนนคนเดินส่วนมากจะเป็นอะไรที่เกี่ยวกับเมืองน่าน
ศูนย์โอทอปที่ถนนสุริยพงษ์ อยู่เลยวัดภูมินทร์ไปหน่อย
ชาวบ้านที่ซื้ออาหารที่ถนนคนเดินแล้วมานั่งรัปประทานบนเสื่อและฟังดนตรีพื้นเมืองที่ลานหน้าวัดภูมินทร์
โรงแรมเวียงภูมินทร์ที่พัก
หลังอาหารค่ำที่ร้านหน้าศูนย์โอทอปแล้ว เราใช้เวลาหลังจากนั้นเดินชมสินค้าที่ถนนคนเดินจนเหนื่อย แล้วก็กลับเข้าที่พักที่โรงแรมเวียงภูมินทร์ ที่แต่งสีสรรเหมือนดอกชมพูภูคา ไม่ว่าจะเป็นที่ห้องอาหาร ห้องนอน หรือแม้แต่เก้าอี้นั่ง...วันนี้เดินทางมาไกล เหนื่อยมาก เลยถือโอกาศลากันตรงนี้เสียเลย แล้วพบกันบล๊อกต่อไปครับ
💘💘ขอบคุณที่ตามอ่านมาตลอด💘💘
ลาด้วยภาพยามค่ำคืนที่หน้าวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร
_____________________
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น