วันอาทิตย์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ไหว้พระที่..วัดพระธาตุเขาน้อย..น่าน


เมืองน่านนอกจากจะมีที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติที่มากมายหลายแห่งแล้ว เรื่องวัดวาอารามที่นี่ก็ขึ้นชื่อที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยครับ ... ปกติถ้าเรามาเมืองน่าน เราก็จะตระเวนไหว้พระกันในเมือง เพราะเข้าถึงได้ง่าย แต่ที่รอบๆเมืองที่ขึ้นชื่อไม่น้อยของเมืองนี้ก็คือที่นี่แหละ "วัดพระธาตุเขาน้อย" ไม่ใช่แต่จะเป็นวัดอย่างเดียว แต่ที่นี่ยังเป็นวิวพ้อนต์ของเมืองด้วย .... วันนี้จะพาไปชมภาพวัดกัน

 พระธาตุเขาน้อย



ถ้าขับออกจากเมืองน่าน ก็ไปตามถนนสาย 101 ทางที่จะไปโลตัสน่าน จะมีป้ายบอกทางเลี้ยวขวาไปวัดพระธาตุ หรือตามแผนที่ที่ให้ไว้ก้ได้ครับ พอไปถึงทางขึ้นวัดจะต้องขับวนขึ้เขาไป จนถึงลานจอดรถหน้าพระธาตุเขาน้อย.


วัดพระธาตุเขาน้อย ตำบลดู่ใต้ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน เป็นวัดราษฎร์ องค์พระธาตุตั้งอยู่บนยอดดอยเขาน้อย ซึ่งอยู่ด้าน ตะวันตกของตัวเมืองน่าน สร้างในสมัยเจ้าปู่แข็ง เมื่อปี พ.ศ. 2030 องค์พระธาตุเป็นเจดีย์ก่อ อิฐถือปูนทั้งองค์ เป็นศิลปะพม่าผสมล้านนา ภายในบรรจุพระเกศาธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัม พุทธเจ้าได้ รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ ในสมัยพระเจ้าสุริยพงศ์ผริต เดชฯ ระหว่างปี พ.ศ. 2449-2454 โดยช่างชาวพม่า และวิหารสร้างในสมัยนี้เช่นกันวัดพระธาตุเขาน้อย เป็นปูชนียสถานที่สำคัญ และเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งของ จ.น่าน สันนิษฐานว่ามีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับพระธาตุแช่แห้ง ตั้งอยู่บนดอยเบาน้อย สูงจากระดับน้ำทะเล ประมาณ 240 ม. หน้าวัดมีทางขึ้นเป็นบันไดนาค 303 ขั้น




ตามประวัติ พระธาตุองค์นี้ สร้างโดย มเหสีรองของพญาภูเข็ง เจ้าผู้ครองนครน่าน เมื่อราวพุทธศตวรรณที่ 20 เจ้าผู้ครองนครน่านอีกหลายองค์ต่อมา ได้บูรณปฏิสังขรณ์ องค์พระธาตุ โดยตลอด จนกระทั่งมีการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ ในปี พ.ศ. 2449-2454 โดยช่างชาวพม่า ชื่อหม่องยิง




กรมศิลปากรได้ทำการสำรวจและขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปีพ.ศ.2523 ด้วยความเป็นวัดที่อยู่บนเขาสูงจึง เป็นจุดชมทิวทัศน์ ที่สวยงาม  อยู่ตรงลานปูน พระพุทธรูปปางลีลาองค์ใหญ่ คือพระพุทธมหาอุตมมงคมนันทบุรี ศรีเมืองน่าน สร้างเมื่อปีพ.ศ.2542 ถีอเป็นจุดเดียวที่เห็นเมืองน่านจากมุมสูง เราจะเห็นขุนเขา น้อยใหญ่ ตั้งทะมึน โอบล้อมเมืองน่าน เป็นฉากหลัง จุดนี้ยังแสดงให้ เราเห็นชัด ถึงลักษณะการตั้งเมือง ของทางภาคเหนือ ที่มักเลือก ทำเลที่ตั้ง บนที่ราบลุ่ม และหุบเขาด้วย


 หลวงพ่อทันใจ




จากวัดพระธาตุเขาน้อย สามารถมองเห็นทิวทัศน์โดยรอบของตัวเมืองน่าน ปัจจุบันบริเวณลานชมทิวทัศน์ ประดิษฐานพระพุทธมหาอุดมมงคลนันทบุรีศรีน่าน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางประทานพร บนฐานดอกบัวสูง 9 เมตร บนยอดพระเกศาทำจากทองคำหนัก 27 บาท สร้างขึ้นเนื่องในมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ฯ ทรงเจริญ พระชนมพรรษา 6 รอบ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542






วิวเมืองน่านจากวัดพระธาตุเขาน้อย



เวลาที่เหมาะแ่การมาชมทิวทัศน์เมืองน่านคือช่วง 17.00 - 18.30 น.ครับ


ลากันด้วยภาพนี้ครับ.


_________________

วันจันทร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ชมบ่อเกลือสินเธาว์ และดอกชมพูภูคา ... ที่น่าน



มาน่านกันหลายครั้งแต่ไม่ค่อยได้ไปสัมผัสบรรยากาศรอบนอกน่านมากนัก มีครั้งหนึ่งมาน่านแบบรีบๆ คือมาทอดกระฐินกับเพื่อนๆที่ดอยแห่งหนึ่ง และอีกครั้งก็มาแวะเที่ยวดอยเสมอดาว เสานาน้อย และผาชู้ ... มาน่านครั้งนี้แบบไม่รีบเลยมีเวลาคิดว่าน่าจะเดินทางไปเที่ยว อ.บ่อเกลือ เพื่อสัมผัสกับบ่อเกลือสินเธาว์ หนึ่งเดียวในโลกเพื่อเป็นความทรงจำกับเขาบ้าง เลยวางแผนขับรถวนตามเส้นทางในแผนที่ แต่เนื่องจากบล๊อกนี้พูดถึงเรื่องราวของดอกชมพูภูคา เราเลยแถม อช.ขุนสถานเข้ามาในบล๊อกเดียวกันซะเลย เพื่อให้เกิดความรู้สำหรับท่านที่อยากจะมาน่าน เพื่อชมดอกไม้หายากนี้บ้าง จะได้วางแผนเดินทางให้ถูและเหมาะกับค่าใช้จ่ายครับ

เส้นทางการขับรถของเราในวันนี้

14 มีนาคม 2560 หลังอาหารเช้าที่โรงแรมเวียงภูมินทร์ เรานั่งคุยกับน้องๆที่เค้าน์เตอร์ว่า ถ้าเราจะขับไป อ.บ่อเกลือ จะใช้เวลานานไหม? เส้นทางเป็ยังไ? และจะกลับมานอนที่ในเมืองน่านทันไหม? .... คำตอบที่ได้ก็คือ ถ้าเราออกประมาณ 8-9 โมงเช้าเราก็สามารถกลับมาที่น่านได้ในตอนบ่ายๆ ซัก 4-5 โมงเย็น เพราะเส้นทางเป็นทางที่ขึ้นเขากว่า 90% แม้จะได้รับการปรับปรุงให้ดีแล้วสำหรับการเดินทาง แต่สำหรับคนไม่คุ้นทางควรเผื่อเวลาไว้บ้าง .... ตอนแรกเราสองจิตสองใจว่าจะนอนพักแถวๆ อ.บ่อเกลือ หรือโครงการภูฟ้าพัฒนาดีไหมน๊า แต่สุดท้ายเราเลือกที่จะกลับมาพักที่น่าน เผื่อมีเวลาเหลือจะได้เที่ยวไหว้พระตามวัดต่างๆอีก และก็เชื่อมั่นในสมรรถนะของเพื่อนยาก CRV 4WD g8injv' 2400 แรงม้า พอควร .... ท้ายสุดก็จองที่พักต่ออีก 1 คืนที่เดิมแล้วออกเดินทางตามเส้นทางในแผนที่ครับ

สวน...ที่ภูฟ้าพัฒนา

เรามาตามเส้นทางสาย 1169 ช่วงแรกๆเป็นทางสี่เลนส์ ซักพักจะค่อยๆไต่เขาขึ้นไปเรื่อยๆตามเส้นทางสองเลนส์แบบสวนกันไปมา แต่ทำทางค่อนข้างกว้างขวาง สองข้างทางเป็นไร่บนเขาและเหวลึก แต่สวยงามดี ... ผ่าน อ.สันติสุข พอถึงทางสามแยก ด้านหนึ่งไป อ.ปัว อีกด้านไป อ.บ่อเกลือ เราเลี้ยวไปทาง อ.บ่อเกลือ ตามเส้นทาง 1081 ทางช่วงนี้ต้องขับระมัดระวังมากขึ้น เพราะเป็นทางขึ้น-ลง เขาคดเคี้ยว ใช้ความเร็วได้ไม่มาก จนถึงสามแยกใหญ่ใกล้ อ.บ่อเกลือ ก็จะมีทางแยกขวาไป ศูนย์ภูฟ้าพัฒนาในพระราชดำริ เราแยกออกไปที่นั่นก่อนครับ

จุดชมวิวที่ภูฟ้าฯ

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2538 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯเยี่ยมราษฎรและทอดพระเนตร บ่อเกลือสินเธาว์ ณ บ้านบ่อหลวง อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ทรงเห็นสภาพความเป็นอยู่ของราษฎรที่มีความด้อยโอกาส ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม จึงได้มีพระราชดำริให้สำนักงานโครงการส่วนพระองค์ฯ ดำเนินการช่วยเหลือการพัฒนาในพื้นที่อำเภอบ่อเกลือ โดยเริ่มพัฒนาที่โรงเรียนประถมศึกษาก่อนเป็นอันดับแรก แล้วจึงขยายไปยังศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” ประกอบด้วย 4 โครงการได้แก่ โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน โครงการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีน โครงการส่งเสริมสหกรณ์ และโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงทรงโปรดฯ ให้จัดตั้งศูนย์ภูฟ้าพัฒนาขึ้น เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2542 เพื่อใช้เป็นต้นแบบการพัฒนาและการถ่ายทอดความรู้การพัฒนาไปสู่พื้นที่ และราษฎรในเป้าหมายท้องที่อำเภอบ่อเกลือ และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ ตามพระราชปณิธานของพระองค์


 ถึงแล้ว..ภูฟ้า

ศูนย์ภูฟ้าจัดตั้งขึ้นเพื่อใช้เป็นต้นแบบการพัฒนาและถ่ายทอดความรู้การพัฒนาไปสู่ราษฎรในพื้นที่เป้าหมายท้องที่อำเภอบ่อเกลือ และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ ได้มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี พร้อมประกอบอาชีพ อย่างเหมาะสมกับศักยภาพ ตลอดจนพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ศึกษาธรรมชาติ และวัฒนธรรมท้องถิ่นแห่งสำคัญของจังหวัดน่าน ช่วยลดปัญหาด้านงานเกษตรกรรม และการศึกษา พัฒนาการงาน และพื้นฐานอาชีพของชาวบ้านให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น อีกทั้งการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ได้ผล ทำให้โครงการศูนย์ภูฟ้าพัฒนาจังหวัดน่าน เป็นหนึ่งสถานที่น่าแวะเวียนมาเที่ยวชมและเรียนรู้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านพื้นถิ่นอีกหนึ่งแห่งของจังหวัดน่าน



ที่ภูฟ้า


ที่ศูนย์ภูฟ้าเขามีที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวด้วยนะครับ โดยสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ :

ที่อยู่ : หมู่ที่ 2 บ้านห่างทางหลวงและ หมู่ที่ 3 บ้านผาสุก ตำบลภูฟ้า อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน
โทรศัพท์ : 086-2166144, 0 5471 0610, 08 1961 3358 ฝ่ายอาคารสถานที่และบริการ (คุณมงคล) โทร. 08 9557 5734
โทรสาร :
-
อีเมลล์ : phufacenter@gmail.com
เว็บไซต์ : http://www.phufacenter.com


ออกจากศูนย์ภูฟ้าฯ เราขับกลับมาที่สามแยกถนนสาย 1081 แล้วเลี้ยวขวาไปทาง อ.บ่อเกลือ เพื่อชมบ่อเกลือสินเธาว์หนึ่งเดียวของโลกที่นั่น ..... ถึงตัวอำเภอแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าไปตามป้ายบอกทาง ไม่ไกลก็จถึงบ่อแรกและสามารถจอดรถด้านในได้บริเวณได้เลย

 หลังจากต้มเกลือแล้วประมาณ 5-6 ชั่วโมงแล้ว จะตักใส่ตะกร้าไว้

อำเภอบ่อเกลือเดิมเรียกว่า เมืองบ่อ ซึ่งคงจะหมายถึงบ่อน้ำเกลือสินเธาว์ที่มีอยู่ในพื้นที่ซึ่งเดิมมีอยู่จำนวน 9 บ่อ เมืองบ่อเดิมทีเป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีความสำคัญมาตั้งแต่ในอดีตกาล ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์ตามพงศาวดารเมืองน่านซึ่งพระเจ้าสุริยพงษผริตเดชได้แต่งรวบรวมขึ้นไว้ มีข้อความกล่าวถึงแหล่งผลิตเกลือที่สำคัญที่เป็นสาเหตุให้พระเจ้าติโลกราชแห่งเมืองเชียงใหม่ยกทัพมายึดเมืองน่าน เมื่อปี พ.ศ. 1993 ว่า

 บ่อเกลือสินเธาว์ภูเขาบ่อแรก

"เดิมทีเขตอำเภอบ่อเกลือเป็นป่าดงพงไพร ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ มีหนองน้ำ ซึ่งพวกสัตว์ต่าง ๆ ชอบมากินน้ำในหนองน้ำแห่งนี้เป็นประจำ และยังมีนายพรานผู้หนึ่งมาล่าสัตว์ และเห็นพวกเหล่าสัตว์ทั้งหลายมักจะกินน้ำที่นี่เป็นประจำ เมื่อลองชิมดูจึงรู้ว่ามีรสเค็ม ข่าวได้ล่วงรู้ไปถึงเจ้าหลวงภูคาและเจ้าหลวงบ่อ จึงได้มาดูบ่อน้ำเกลือ และต่างก็ต้องการครอบครอง จึงคิดหาวิธีการโดยทั้งสองพระองค์ขึ้นไปอยู่ที่ยอดดอยภูจั๋น เพื่อแข่งขันกันพุ่งสะเน้า (หอก) แสดงการครอบครองบ่อน้ำเกลือ เจ้าหลวงภูคาพุ่งหอกไปตกทางตะวันตกของลำน้ำมาง ตรงที่ตั้งหอนอกในปัจจุบัน เจ้าหลวงบ่อพุ่งหอกไปตกทางตะวันออกของลำน้ำมาง ตรงที่ตั้งหอเจ้าพ่อบ่อหลวงในปัจจุบัน ผู้คนที่พากันมาดูการแข่งขันพุ่งหอก ได้นำเอาก้อนหินมาก่อไว้เป็นที่สังเกต แล้วตั้งเป็นโรงหอทำพิธีระลึกตอบแทนเจ้าหลวงทั้งสององค์ทุกปี ภายหลังทั้งสองพระองค์คิดกันว่า จะนำคนที่ไหนมาอยู่ เมื่อปรึกษากันแล้ว เจ้าหลวงภูคาจึงไปทูลขอประชาชนที่อยู่เมืองเชียงแสนจากเจ้าเมืองเชียงรายมาหักร้างถางพงทำเกลืออยู่ที่นี่ ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชาวบ่อหลวงในปัจจุบันนั่นเอง ดังนั้นชุมชนบริเวณนี้จึงได้เกิดขึ้นและดำรงอยู่มาจนถึงปัจจุบันนี้ (ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า เดิมทีนั้นบรรพบุรุษอยู่ที่ประเทศมองโกเลียและประเทศจีน หนี้ลี้ภัยมาทางแม่น้ำเหลืองเข้าสู่ประเทศลาว ทางประเทศลาวไม่อนุญาตให้อาศัยอยู่ได้ จึงพากันข้ามแม่น้ำโขงมาอาศัยอยู่ที่เมืองเชียงแสน)"



 ในหมู่บ้านบ่อเกลือ


 บ่อเกลือที่ 2 ที่ผลิตอยู่



 บ่อน้ำเกลือที่ลึกพอควร

การจะนำเกลือจากบ่อขึ้นมาต้มทำเกลือใช่ว่าจะกระทำกันได้ง่าย ๆ ชาวบ้านจะต้องทำพิธีเลี้ยงผีเมืองและเจ้ารักษาบ่อเกลือคือ เจ้าซางคำ กันก่อน โดยจะทำทุกปีในวันแรม 8 ค่ำเดือน 5 หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "งานแก้ม" ในสมัยก่อนเคยทำกันถึง 7 วัน แต่ปัจจุบันลดลงมา เหลือเพียง 3 วันเท่านั้นในอดีตชาวบ้าน อำเภอบ่อเกลือจะ ทำ เกลือขึ้นเพื่อใช้ในครัวเรือน แต่เมื่อปัจจุบันถนนหนทาง สะดวกมากขึ้น การเดินทางเข้าเมือง ก็ง่าย ชาวบ้านจึงได้ นำเกลือจากที่นี่ออกไป จำหน่ายยังหมู่บ้านต่าง ๆ รวมถึงต่างอำเภอก็มีปัจจุบันอำเภอบ่อเกลือ สวยงาม ด้วยภูมิ ประเทศป่าเขาเขียวขจี ควันหลงของสงครามจางหายไปและพื้นที่นี้กำลังได้ รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ของจังหวัดน่านที่รอคอยนักเดินทางเข้ามาสัมผัสกลิ่น ไอของธรรมชาตและตำนานการทำเกลือบนที่สูง
(อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับเกลือสินเธาว์)

 เกลือหลังจากต้มจะใส่ตระกร้าให้สะเด็ดน้ำ


คลองหลังหมู่บ้านที่รักษาสภาพน้ำไว้ได้ดี

ออกจาก อ.บ่อเกลือ เราขับขึ้นทาง อช.ดอยภูคา ไปตามเส้นทางหมายเลข 1256 ที่จะไป อ.ปัว เพื่อไปชมดอกชมพูภูคาที่บริเวณตำหนักเจ้าหลวงภูคา เส้นทางสายนี้ขึ้นเขาสูง บางช่วงค่อนข้างแคบ ต้องระมัดระวังในการใช้ความเร็ว แถวบางช่วงยังเป็นทางบนเขเลี้ยวหักข้อศอกอีกด้วย ..... แต่เราก็ไปถึงตำหนักเจ้าหลวงภูคาจนได้ ไหว้ศาลเจ้าหลวงเสร็จก็เดินไปชมดอกชมภูพูคาที่กำลังออกดอกอยู่ 2 ต้น แต่ดอกมีไม่มากนัก และบริเวณนั้นยังมีต้นชมพูภูคาสูงประมาณท่วมหัวอยู่หลายต้น เข้าใจว่าเจ้าหน้าที่เอามาปลูกใหม่...

 ตำหนักเจ้าหลวงภูคา...ใกล้ๆต้นชมพูภูคา





ชมพูภูคา : ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bretschneidera sinensis Hemsl. : ชื่อวงศ์ : BRETSCHNEIDERACEAE แม้ยอดดอยภูคายังคงเป็นปริศนาของนักเดินทาง แต่ปริศนาที่สำคัญยิ่งอีกสิ่งหนึ่งก็คือ ถูกค้นพบและเปิดเผยขึ้นราวเดือนกุมภาพันธ์ 2532 ของ ดร.ธวัชชัย สันติสุข ผู้เชี่ยวชาญพฤกษศาสตร์ป่าไม้ ของกรมป่าไม้ ได้สำรวจพบต้นไม้พันธุ์หายากที่คาดว่าจะสูญพันธุ์ไปแล้ว คือต้นไบร์ทชไนเดอร์ ชิเนนชีส (BRETSCHNEIDERA SINENSIS) กำลังผลิตดอกสีชมพูอมขาวงดงาม ตั้งตรงเป็นกลุ่มยาวราว 30 เซนติเมตร และได้ตั้งชื่อจากการค้นพบครั้งแรกในเมืองไทยว่า "ชมพูภูคา"  


ชมพูภูคา เป็นพืชหายากใกล้สูญพันธุ์ที่มีดอกสีชมพูอมขาวงดงาม ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานให้ ชมพูภูคา เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ

ชมพูภูคา เป็นไม้ต้นสูงได้ถึง 25 เมตร เปลือกเรียบสีเทา ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก ยาว 30-80 เซนติเมตร ใบย่อยไม่มีก้านใบ รูปหอกถึงรูปไข่ กว้าง 2.5-6 เซนติเมตร ยาว 8-25 เซนติเมตร โคนใบมนไม่เท่ากัน ปลายใบแหลม ดอก สีชมพู คล้ายรูประฆัง ออกเป็นช่อที่ปลายยอด ช่อยาวได้ถึง 40 เซนติเมตร กลีบรองดอกขนาดใหญ่ รูปถ้วยขอบหยักตื้นๆ กลีบดอก 5 กลีบ รูปไข่กว้าง โคนกลีบเรียวยาว ปลายกลีบม้วนออกด้านนอก ขนาด 1.8-2 เซนติเมตร กลีบบนมักคว่ำลง เกสรผู้ 8 อัน ผล รูปกระสวย แก่แล้วแตก เมล็ด รูปรี กว้าง 12 มิลลิเมตร ยาว 20 มิลลิเมตร ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียวมีใบย่อยรูปไข่แกมรูปใบหอก ปลายใบแหลมยาว แผ่นใบด้านล่างมีนวลสีขาว ช่อดอกตั้งตรงแยกแขนงออกตามปลายกิ่งกลีบเลี้ยงติดกันคล้ายรูประฆัง กลีบดอกสีชมพูมีริ้วสีแดง ออกดอกประมาณเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ผลคล้ายมะกอกแต่มีขนาดใหญ่กว่า

ด้วยความสูงจากระดับน้ำทะเลถึง 1,980 เมตร ดอยภูคานับเป็นยอดดอยที่สูงที่สุดแห่งหนึ่งของเทือกเขาหลวงพระบางและเป็นยอดดอยที่สูงในลำดับต้นๆ ของประเทศไทย ซึ่งจากสภาพดังกล่าวนี้ทำให้เทือกดอยภูคา มีลักษณะโดดเด่น ในด้านระบบนิเวศของพืชพรรณภูเขาสูงอันอุดมไปด้วยป่าดงดิบเขา ป่าดงดิบชื้น รวมทั้งป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง อีกทั้งเป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำน่านอีกด้วย พันธุ์ไม้ที่สำคัญที่สุดและพบเพียงแห่งเดียวในโลกที่นี่คือ ชมพูภูคา ซึ่งเป็นต้นไม้พื้นเมืองของไทย และเป็นพันธุ์ไม้หายาก ใกล้สูญพันธุ์ชนิดหนึ่งของโลก โดยเมื่อประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา มีรายงานว่าพบพันธุ์ไม้ชนิดนี้ ที่มณฑลยูนานประเทศจีน แต่ปัจจุบันคาดว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว จนกระทั่งได้มีการค้นพบอีกครั้งในป่าดอยภูคา จ.น่านนี้

ด้วยชมพูภูคา เป็นพันธุ์ไม้ที่มีการงอกขยายพันธุ์ของเมล็ดในอัตราต่ำมาก จึงง่ายต่อการสูญพันธุ์ และจะต้องขึ้นอยู่ในภูมิประเทศที่มีความสูงราว 1,500 เมตรจากระดับน้ำทะเลขึั้้นไป จะเจริญเติบโตได้ดีบริเวณป่าดงดิบเขาตามไหล่เขาสูงชัน และมีความชื้นของอากาศสูงอุณหภูมิเฉลี่ยค่อนข้างต่ำตลอดทั่งปี ซึ่งหลังจากค้นพบ ได้มีความพยายามที่จะเพาะเมล็ดเพื่อขยายพันธุ์ แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ จนได้รับพระบารมีโปรดเกล้าฯ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้มีการทดลองเพาะเนื้อเยื่อ จึงได้สำเร็จลง แต่ก็นำมาปลูกในพื้นราบไม่ได้..




ต่อมา โรงเรียนปัว โรงเรียนมัธยมศึกษา สังกัดกรมสามัญศึกษา อ.ปัว จ.น่าน ได้ทดลองนำมาปลูกไว้ที่โรงเรียนปัวและดูแลรักษาเป็นอย่างดี ต้นชมพูภูคาก็เจริญงอกงามดีมา จนสูงขึ้นประมาณ 1 เมตรครึ่ง ก็จะเฉาตายหมด คงมีเหลืออยู่ในบริเวณต้นเดิมที่พบ และบริเวณสถานที่พักทรงงานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี บนดอยภูคาเท่านั้น ที่เจริญงอกงามใหญ่โตมาจนถึงปัจจุบันนี้


ปัจจุบันได้มีการทดลองเพาะกล้าไม้ชมพูภูคาจากเมล็ดเป็นผลสำเร็จซึ่งคาดว่าจะช่วยให้ชมพูภูคาไม่สูญพันธุ์จากโลกนี้ต่อไป และมีข้อสันนิษฐานของนักวิชาการป่าไม้ว่า อาจจะยังมีต้นชมพูภูคาหลงเหลืออยู่อีกในป่าทึบของอุทยานแห่งชาติดอยภูคา ดังนั้น อีกทางหนึ่งที่จะรักษาไว้ก็คือ รักษาสภาพป่าของดอยภูคาให้รอดพ้นจากการถูกทำลาย เพื่อพืชพันธุ์ที่หายากของโลกนี้ จะได้มีชีวิตอยู่คู่โลกอีกนานเท่านาน.

ขอบคุณข้อมูลจาก :  http://www.lannatouring.com


ดอกตูมของชมพูภูคา

 หลังจากชมดอกชมพูภูคาที่บริเวณตำหนักเจ้าหลวงภูคา ใน อช. ดอยภูคา ซึ่งอยู่ข้างทางสาย 1256 จาก อ.บ่อเกลือ - ปัว แล้วเราก็ขับต่อไปที่ อ.ปัว หาอะไรทานกันที่นั่น ก่อนเดินทางเข้าสู่เมืองน่าน .... ในเวลาที่เหลือในช่วงบ่ายเราถือโอกาสนั่งรถรางน่านเที่ยวชมตัวเมืองและวัด (ซึ่งจะไม่ลงในบล๊อกนี้ เพราะเคยลงไปแล้ว) .... แต่จะพาท่านไปชมดอกชมพูภูคา ที่ อช. ขุนสถาน ซึ่งเป็นการเดินทางในวันต่อมา .... เราเอาภาพดอกชมพูภูคามาลงในบล๊อกนี้ด้วยกัน เพราะอยากให้ท่านที่ยากมาชมดอกไม้มหัศจรรย์นี้ในปีต่อไป จะได้รับข้อมูลไปพร้อมๆกันครับ


 วิวระหว่าทางไป อช.ขุนสถาน

ขากลับจากเมืองน่าน เราอยากจะแวะชมดอกชมพูภูคาอีกแห่งที่ได้รับคำบอกเล่าจากคนขับรถตู้นำเที่ยวว่า ที่สถานีวิจัยต้นน้ำขุนสถาน (ตรงที่หลายๆท่านเคยไปชมดอกนางพญาเสือโคร่งบานนั่นแหละ) มีต้นชมพูภูคาที่กำลังออกดอกมากมาย หรือมากว่าที่ดอยภูคาอีก เราเลยกลับบ้านทางนี้ครับ ขับมาเกือบเข้า อ.นาน้อย แล้วแยกขวาออกไปตามทาง สาย 1216 ที่ป้ายบอกว่าไป อช.ขุนสถาน .... ขับผ่านหมู่บ้าน และขึ้นเขาสูงชันไปเรื่อยๆ อีกซักพักเหมือนว่าขับอยู่เหนือก้อนเมฆซะงั้น วันนั้นท้องฟ้าหลัว มีสภาพหมอกควันเยอะ ทำให้ทัศนวิสัยมองได้ไม่ไกลนัก แต่เส้นทางก็คดเคี้ยว น่าหวาดเสียวอยู่หลายช่วง CRV 2.4 4WD พาเราปีขึ้นไม่ลำบากมากนัก เห็นวิวหลายที่อยากจอดลงไปถ่ายภาพมาฝากเช่นกัน แต่หาไหล่ทางจอดลำบากมา จนกระทั่งเรามาถึงป้ายด้านซ้ายมีว่าไปศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เราเลี้ยวซ้ายเข้าไป..พอถึง เห็นบรรยกาศแล้ว อยากนอนพักที่นี่อีกซักคืนจังเลย... ณ ที่ตรงนั้นเขามีจุดกางเต้น ที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวด้วย ลองติดต่อเข้าไปนะครับ ถ้าอยากได้ที่พักลอยฟ้ากลางขุนเขา

 อุทยานแห่งชาติขุนสถาน
ตู้ ปณ.5  อ. นาน้อย  จ. น่าน   55150
ติดต่อจองได้ที่เบอร์ 087-173-9549   อีเมล ksnp@khunsathan.com, khunsathan@hotmail.com



 ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อช.ขุนสถาน

หลังจากพักหายเหนื่อยแล้ว เราขับลงจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อช.ขุนสถาน ต่อไปมี่สถานีวิจัยต้นน้ำขุนสถานและเลี้ยวซ้าเข้าไปที่ทำการ (ภาพด้านล่าง) เพื่อชมดอกชมพูภูคาที่นี่ .... จริงๆแล้ว ณ ที่ตรงนั้นเขาขึ้นชื่อเรื่องการมาชมดอกนางพญาเสือโคร่งมาก แต่ช่วงที่เราไป เหลือแต่ต้นที่ออกไปเขียวเต็มพรึดไปหมดแล้ว ... เจ้าต้นชมพูภูคา อยู่ริมถนนก่อนเลี้ยวรถเข้าที่จอดหน้าที่ทำการเลย ในเดือน กพ.- มีค. ถ้าผ่านมาก็สามารถแวะดูดอกชมพูภูคาได้ที่นี่อีกแห่งครับ.

สถานีวิจัยต้นน้ำขุนสถาน บ้านขุนสถาน ต. สันทะ อ. นาน้อย จ. น่าน
โทรศัพท์ : 081-6023199,088-8055928, 090-0501049
e-mail : kanyarat50@hotmail.com
พิกัด : 47Q 6 59100 E 2021583 N



 ที่สถานีวิจัยต้นน้ำขุนสถาน

 ผลส้มที่สถานีวิจัยขุนสถาน

ต้นชมพูภูคาที่สถานีวิจัยต้นน้ำขุนสถาน..มีหลายต้น


 ดอกชมพูภูคาที่สถานีวิจัยต้นน้ำขุนสถาน


การเดินทาง

รถยนต์
เส้นทางไปอุทยานแห่งชาติขุนสถาน มี 2 เส้นทาง คือ 


  • ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 101 (ถนนยนตรกิจโกศล) เป็นเส้นทางจากตัวจังหวัดแพร่ไปจังหวัดน่าน จากจังหวัดแพร่ ระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร ถึงหมู่บ้านห้วยแก๊ต ตำบลไผ่โทนอำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ ให้เลี้ยวขวาไปตามเส้นทางหลวง 1216 ระยะทางประมาณ 26 กิโลเมตร ถึงที่ทำการชั่วคราวอุทยานแห่งชาติขุนสถาน 



  • จากจังหวัดน่าน ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 101 ถึงอำเภอเวียงสา เลี้ยวขวาไปตามถนนเจ้าฟ้า ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1026 สายอำเภอเวียงสา - อำเภอนาน้อย ระยะทางจากอำเภอเวียงสาถึงอำเภอนาน้อย ประมาณ 35 กิโลเมตร และจากอำเภอนาน้อยเลี้ยวขวา ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1216 ระยะทางประมาณ 31 กิโลเมตร ถึงที่ทำการชั่วคราวอุทยานแห่งชาติขุนสถาน 




เราใช้เวลาพักผ่อนเดินชมความสวยงามของแมกไไม้ที่สถานีวิจัยฯ พอสมควร ก่อนเดินทางต่อไปเพื่อกลับบ้าน



💘💘ขอบคุณที่ตามอ่านตลอดครับ💘💘 





ลาด้วภาพดอกชมพูภูคาดอกนี้ครับ


_______________________

วันอังคารที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

จากเขื่อนสิริกิติ์...สู่ น่าน



   บล๊อกที่แล้วเราพาคุณๆเดินทางตามเส้นทางสาย 12 (ขอนแก่น - พิษณุโลก) และมาไหว้พระและพักที่เมืองสองแคว พิษณุโลก เพื่อเล่นกอล์ฟกับเพื่อนๆที่เคยร่วมงานกัน เมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว ... หลังอาหารเที่ยงวันที่ 11 มีนาคม 2560 เราขับไปพักที่เขื่อนสิริกิติ์ จังหวัด อุตรดิตถ์ และทานมื้อเย็นที่ร้านอาหารของเขื่อน ซึ่งวันนั้นเป็นวันหยุดมีผู้คนทั้งมาเที่ยวและสัมนามากมาย จนดูเหมือนร้านอาหารที่เขื่อนฯในเย็นวันนั้นเนืองแน่นเหมือนร้านในเมืองก็ไม่ผิด .... ส่วนสาเหตุว่าเราจะไปน่านทำไมมาพักที่เขื่อนล่ะ ทำไมไม่ขับไปแพร่ ร้องกวาง และเข้าน่านเลย? ที่เราทำเช่นนั้นเพราะอยากถือโอกาสเล่นกอล์ฟที่สนามเขื่อนสิริกิติ์ในตอนเช้า เพราะไม่ได้มาที่นี่นานมากแล้ว อีกอย่างก็อยากจะลองเส้นทางที่เราไม่เคยมาคือข้ามแพ ไปปากนาย นาหมื่น นาน้อย และน่านด้านนี้บ้างครับ จึงเป็นที่มาของบล๊อก "ข้ามแพ..สู่น่าน" ครับ


ค่ำคืนที่น้ำน่านใต้เขื่อนสิริกิติ์

คืนหน้าร้อนเดือนมีนาคม อากาศที่เขื่อนสิริกิติ์นี้ร้อนเหมือนกัน เรานั่งผ่อนคลายความร้อนพร้อมเบียร์เย็นๆและแกล้มที่ได้จากปลาในเขื่อนสิริกิติ์อย่างได้รสชาต ก่อนที่จะพาตัวเองเข้าพักที่บ้านพักของเขื่อนฯ ที่รังนางนวล และหลับสบายๆ ก่อนที่จะตื่นมาในตอนเช้าเพื่อไปออกกำลังกายที่สนามกอล์ฟในเขื่อนฯ .... สนามแห่งนี้เป็นสนามภูเขา 18 หลุมครับ เวลาเดินขึ้นแท่นทีออฟลำบากพอดู ถ้ากำลังไม่ดีแนะนำให้ใช้รถกอล์ฟนะครับ


สะพานเฉลิมพระเกียรติบรมราชินีนาถ เขื่อนสิริกิติ์

 ยามเช้าที่สนามกอล์ฟเขื่อนสิริกิติ์

เขื่อนสิริกิติ์ เป็นเขื่อนดินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เดิมเขื่อนนี้มีชื่อว่า เขื่อนผาซ่อม โดยก่อสร้างปิดกั้นแม่น้ำน่าน บริเวณเขาผาซ่อม ตำบลผาเลือด อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ ภายหลังได้รับพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มาขนานนามเขื่อนว่า เขื่อนสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2511

ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์เขื่อนสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514 งานก่อสร้างตัวเขื่อนและองค์ประกอบได้แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2515





เขื่อนสิริกิติ์ช่วงสายๆ

จากเขื่อนสิริกิติ์ เราขับไปทางตะวันออกไปเข้าถนนสาย 1139 เพื่อไปลงแพข้ามไปที่หมู่บ้านประมงปากนาย ถนนดีครับ ยกเว้นช่วงจะลงแพมีเป็นหลุมเป็นบ่อนิดหน่อย จากนั้นเราเอารถลงแพเพื่อข้ามฟากโดยมีค่าใช้จ่ายคันละ 250 บาท ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง จุดที่ข้ามไปเป็นเขตจังหวัดน่าน ที่หมู่บ้านประมงปากนาย ซึ่งจากตรงนั้นจะมีถนนสาย 1026 ผ่าน อ.นาหมื่น ไป อ.นาน้อย และไปเข้าถนนสาย 101 ที่มาจากร้องกวางที่ อ.เวียงสา ก่อนเข้าสู่น่าน



แพที่ใช้ขนรถข้ามฟากที่นี่ทำแบบง่ายๆตามภูมิปัญญาชาวบ้าน คือเป็นตัวแพแบบในภาพปูด้วยไม้เนื้อแข็ง มีสะพานขึ้น-ลง ทำเสาไว้ทั้งสองด้านเพื่อยกสะพานขึ้นเมื่อแพออกจากฝั่ง .... ตอนแรกก็กลัวเหมือนกันว่าจะปลอดภัยไหมน๊า แต่เมื่อฟังดูจากประวัติที่ผ่านมาแล้วก้ไม่เคยมีเหตุการณ์อะไรร้ายแรงนัก เมื่อนำรถขึ้นเสร็จทั้งสองคัน (คืออีกคันเป็นปิกอัพมาจากกรุงเทพฯ เพิ่งข้ามครั้งแรกเหมือนกัน) ก็ออกมาแกล้งเดินถ่ายภาพด้านอก (แต่ในใจคือกลัว) .... แพเคลื่อนที่โดยใช้เรือหางยาวผูกเชือกแล้วลากไป แต่ขอบอกว่าเขาชำนาญจริงๆ ยิ่งตอนเข้าเทียบท่ายิ่งเก่งครับ สำหรับแพที่ใช้ข้ามมีกันหลายลำเหมือนกัน



 แพบรรทุกรถยนต์และใช้เรือหางยาวลากข้ามไปปากนาย


 ร้านอาหารสองบัวที่ปากนาย..แวะทานมื้อเที่ยงที่นี่




หมู่บ้านประมงปากนาย ปากนายหมู่บ้านเล็กๆ เดิมเป็นหมู่บ้านริมแม่น้ำน่าน หลังการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ ชาวบ้านอพยพมาจากหลายแห่ง หมู่บ้านปากนายได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อน ซึ่งมีลักษณะเหมือนทะเลสาบขนาดใหญ่ โอบล้อมด้วยทิวเขาเขียวขจี ชาวบ้านปากนายประกอบอาชีพประมง มีแพร้านอาหารให้เลือกชิมปลาจากเขื่อน เช่น ปลากด ปลาบู่ ปลาคัง ปลาแรด ปลาทับทิม เป็นต้น และบางแห่งทำเป็นห้องพักไว้บริการนักท่องเที่ยว เพราะที่นี่เต็มไปด้วยแพของชาวประมงที่มีอาชีพหาปลา และด้วยทัศนียภาพที่งดงามของสายน้ำ รวมถึงอาหารจากปลาที่สดใหม่ จึงได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยือนอยู่เสมอ 

จากบ้านปากนายสามารถเช่าเรือล่องไปตามลำน้ำน่านสู่อ่างเก็บน้ำสิริกิติ์ มีทิวทัศน์เป็นป่าเขาสวยงาม เกาะแก่ง เรือนแพ ชาวประมง ในช่วงนอกฤดูฝน จะมีแพลากไปวัดปากนาย สามารถนั่งรับประทานอาหารบนเรือได้ ใช้เวลาประมาณ ๒ ชั่วโมง เพื่อชมสีสันของพระอาทิตย์ตกยามเย็น และมีแพขนานยนต์ข้ามฟากไปยัง อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์😉😉


😉เราถึงเมืองน่านตอนบ่ายๆ เข้าไปเชค-อินที่โรงแรมเวียงภูมินทร์ ซึ่งอยู่ใกล้ๆกับวัดภูมินทร์ และวันนี้เขามีถนนคนเดินที่ถนนผากองข้างๆวัดด้วย เราพักให้หายเหนื่อย ก่อนออกไปไหว้พระที่วัดภูมินทร์และถือโอกาสเดินเที่ยวถนนคนเดินด้วย



เช็ค-อินเข้าที่พักเสร็จ วางแผนการเดินทางในวันต่อไปจากอากู๋แล้วถือโอกาสงีบให้หายเหนื่อยจากการเดินทาง ก่อนที่จะออกไปไหว้พระในตอนใกล้ค่ำ แน่นอนสถานที่แรกที่ใกล้ที่พักเราที่สุดคือ "วัดภูมินทร์"


วัดภูมินทร์
         
เดิมชื่อ “วัดพรหมมินทร์” เป็นวัดหลวง ตั้งอยู่ในเขตพระนครดังปรากฏชื่อ ตำบลในเวียงในปัจจุบัน เจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2139  ต่อมาอีกประมาณ  300 ปี  มีการบูรณะครั้งใหญ่ ในสมัยเจ้าอนันตวรฤทธิ์เดช เมื่อ พ.ศ.2410 (ปลายสมัยรัชกาลที่ 4)  ใช้เวลาซ่อมแซมนานถึง  7 ปี
         
ความสวยแปลกของวัดภูมินทร์ ที่เป็นหนึ่งเดียว คือ  เป็นวัดที่สร้างทรงจัตุรมุขหนึ่งเดียวในประเทศไทย ที่ดูคล้ายตั้งอยู่บนหลังพญานาคขนาดใหญ่  2 ตัว แหนพระอุโบสถเทินไว้กลางลำตัว  ตรงใจกลางพระอุโบสถจัตุรมุข ประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่  4 องค์ หันพรพักตร์ออกด้านประตูทั้งสี่ทิศหันเบื้องปฤษฏาค์ชนกัน ประดับนั่งบนฐานซุกชี เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย
         
อาคารนี้เป็นทั้งพระอุโบสถ พระวิหาร และพระเจดีย์ในหลังเดียวกัน โดยใช้อาคารในแนว ตะวันออก-ตะวันตก เป็นพระวิหาร และอาคารแนว เหนือ-ใต้ เป็นพระอุโบสถ รัฐบาลไทยเคยพิมพ์รูปวัดภูมินทร์ ในธนบัตรใบละ 1 บาท ในช่วงสงครามโลกครั้งที่  2    
         
ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง แสดงเรื่องราวชาดก  วิถีชีวิตตำสนานพื้นบ้าน และความเป็นอยู่ของชาวน่านในอดีต ได้แก่ การแต่งกายคล้ายผ้าซิ่นลายน้ำไหล การท่อผ้าด้วยกี่ทอมือ  การติดต่อซื้อขายกับชาวต่างชาติ สิ่งน่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง คือ บานประตูแกะสลักลึกเป็น 3 ชั้น บนไม้สักทองแผ่นเดียวขนาดใหญ่ ความหนาของไม้ประมาณ 4 นิ้วสลักเป็นลวดลายเครือเถา ที่ทั้งดอกและมีผลระย้า รวมทั้งสัตว์นานาชนิด ฝีมือช่างเมืองน่าน
         
หอไตรวัดภูมินทร์ ลักษณะ สร้างขึ้นใหม่เลียนแบบของเดิม เมื่อ 5 มีนาคม 2537 อาคารสี่เหลียมทรงสูงสองชั้นก่ออิฐถือปูน มีบันใดภายในตัวอาคาร ชั้นบนมีระเบียง หลังคามีช่อฟ้าใบระกา

ที่มา : www.nan.go.th



  วัดภูมินทร์ยามบ่าย

ภาพฝาผนัง "กระซิบรัก" ที่วัดภูมินทร์ โด่งดังไปทั่วโลก


เสร็จจากไหว้พระที่วัดภูมินทร์ เราก็เดินเที่ยวรอบๆบริเวณนั้น ซึ่งด้านข้างวัดที่ถนนผากองตรงหน้า ททท. น่าน กำลังมีผู้คนนำสินค้าและอาหารการกินมาวางบนถนน นัยว่าวันนี้เขาจะมีถนนคนเดินกัน ... ข้ามถนนไปก็จะเป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ จ.น่าน ซึ่งไฮไลท์หนึ่งในนั้นคืองาช้างดำ แต่วันนี้เป็นวันหยุดเราเลยไม่ได้เข้าไปชม (อ่านเรื่องเที่ยวน่านจากบล๊อกที่ผมเคยเขียนไว้..คลิ๊ก ) ติดถนนด้านหน้าพิพิธภัณฑ์จะเป้นถนนคอนกรีตมีซุ้มต้นลีลาวดี หรือ ต้นจำปา ให้นักท่องเที่ยวได้โพสท่าถ่ายภาพกัน 

ข้ามถนนไปอีกด้านก็จะเป็น "วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร" ที่ฐานของเจดีย์มีรูปปั้นช้างครึ่งตัวค้ำอยู่ เข้าไปไหว้พพระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี ที่ทำด้วยคำ 65%


วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร


วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร (วัดหลวงกลางเวียง)

 อยู่ตรงข้ามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน เดิมชื่อ วัดหลวงกลางเวียง เจ้าผู้ครองนครน่าน พญาภูเข่ง เป็นผู้สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ.1949 พระวิหารหลวงวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร เป็นวิหารขนาดใหญ่ รูปทรง สร้างตามสถาปัตยกรรม ทางภาคเหนือ ลักษณะภายในโอ่โถง ด้านหน้ามีสิงห์คู่ ยืนตรงเชิงบันได ด้านละตัว มีทางเข้า 3 ทาง ประตูกลาง ทำเป็นประตูใหญ่ และประตูเล็ก อยู่ด้านซ้ายและด้านขวา มีทางขึ้นเป็นประตูเล็ก ๆ ตรงข้ามพระประธาน ด้านทิศตะวันออกและตะวันตกอีก 2 ข้าง ทำหลังคาซ้อนกัน 2 ชั้น มุขลดด้านหน้า และด้านหลัง หน้าบัน ตีด้วยแผ่นกระดานเรียงต่อกัน แล้วประดับที่ขอบเสา ด้านหน้าทุกต้น ตามลักษณะ สถาปัตยกรรมล้านนาไทย ภายในพระวิหารกว้างขวาง มีเสาปูนกลมขนาดใหญ่ ขนาด 2 คนโอบรอบ จำหลัก ลวดลายปูนปั้นนูนสูงไว้ เหนือจากระดับพื้นพระวิหาร 1.50 เมตร เป็นลวดลาย กนกระย้าย้อย เหมือนลวดลาย ที่เสาในวิหารวัดภูมินทร์
           

หน้าวิหารพระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี

ภายในวัดประดิษฐาน เจดีย์ช้างค้ำ ซึ่งเป็นศิลปสมัยสุโขทัย อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 20 รอบเจดีย์ มีรูปปั้นช้างปูนปั้น เพียงครึ่งตัวประดับอยู่โดยรอบ นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปทองคำปางลีลา คือ พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี ซึ่งเป็นทองคำ 65 % สูง 145 เซ็นติเมตร ยอดพระโมฬีทำเสริมเมื่อ พ.ศ. 2442 หนัก 69 บาท เจ้างั่วฬารผาสุม เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 14 แห่งราชวงค์ภูคา เป็นผู้สร้าง เมื่อวันพุธ เดือน 6 เหนือ พ.ศ. 1969 เป็นศิลปะสุโขทัย ประดิษฐานอยู่ที่หอพระไตรปิฎก ใหญ่ที่สุดในประเทศ
           
พระธาตุเจดีย์ช้างค้ำวรวิหาร เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีลิกธาตุไว้ภายใน นับเป็น ปูชนียสถาน สำคัญ เป็นเจดีย์ ที่ได้รับอิทธิพลทางด้านศิลปะสุโขทัย จากเจดีย์ทรงลังกา คือเจดีย์วัดช้างล้อมนั่นเอง พระธาตุเจดีย์ สร้างด้วยอิฐถือปูน มีสัณฐานเป็นรูปสี่เหลื่ยมจัตุรัส ซ้อนกัน 3 ชั้น กว้างด้านละ 9 วา ฐานจากชั้นแรกสูงถึงชั้นสอง มีรูปช้างค้ำอยู่ในลักษณะ เหมือนฐานรองรับไว้ด้านละ 6 เชือก รวมทั้งหมด 24 เชือก ช้างแต่ละตัว โผล่ส่วนหัว ลอยออกมาครึ่งตัว ขาหน้าทั้งคู่ ยื่นพ้นออกมาจากเหลี่ยมฐาน เหนือขึ้นไปเป็นฐานปัทม์ (ฐานบัว) ซ้อนกัน 3 ชัน และเป็นองค์ระฆังแบบลังกา ต่อจากองค์ระฆัง ทำเป็นฐานเขียง รองรับมาลัยลูกแก้ว ลดหลั่นกันไป เป็นส่วนยอด ปัจจุบันพระธาตุเจดีย์ช้างค้ำ ได้รับการบูรณะซ่อมแซม และหุ้นด้วยแผ่นทองเหลืองทั้งองค์ มีความสวยงามมาก
          
อ่านเพิ่ม : www.nan.go.th
           


พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี


 เจดีย์ที่มีรูปช้างค้ำเหมือนชื่อวัด


อุโมงลีลาวดีหน้าพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติน่าน

 พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติน่าน

ถนนคนเดินที่ถนนผากอง ติดกับวัดภูมินทร์

ของที่ระลึกที่เอามาวางขายบนถนนคนเดินส่วนมากจะเป็นอะไรที่เกี่ยวกับเมืองน่าน


ศูนย์โอทอปที่ถนนสุริยพงษ์ อยู่เลยวัดภูมินทร์ไปหน่อย


ชาวบ้านที่ซื้ออาหารที่ถนนคนเดินแล้วมานั่งรัปประทานบนเสื่อและฟังดนตรีพื้นเมืองที่ลานหน้าวัดภูมินทร์

โรงแรมเวียงภูมินทร์ที่พัก

หลังอาหารค่ำที่ร้านหน้าศูนย์โอทอปแล้ว เราใช้เวลาหลังจากนั้นเดินชมสินค้าที่ถนนคนเดินจนเหนื่อย แล้วก็กลับเข้าที่พักที่โรงแรมเวียงภูมินทร์ ที่แต่งสีสรรเหมือนดอกชมพูภูคา ไม่ว่าจะเป็นที่ห้องอาหาร ห้องนอน หรือแม้แต่เก้าอี้นั่ง...วันนี้เดินทางมาไกล เหนื่อยมาก เลยถือโอกาศลากันตรงนี้เสียเลย แล้วพบกันบล๊อกต่อไปครับ


💘💘ขอบคุณที่ตามอ่านมาตลอด💘💘


ลาด้วยภาพยามค่ำคืนที่หน้าวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร


_____________________