วันพฤหัสบดีที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2560

เที่ยวสวิส 1 ... เตรียมตัวไปเที่ยวสวิส



บอกกล่าว... คือไม่ได้เข้ามาเขียนบล๊อกนานหลายเดือน ท่านที่เคยตามอ่านอาจจะลืมไปแล้วก้ได้


กลับมาคราวนี้จะพาไปเที่ยวสวิส แดนธรรมชาติที่แสนสวยงาม จนเป็นที่หมายตาของหลายๆท่านว่า ครั้งหนึ่งจะต้องไปเยือนที่นั่นให้ได้ ... บอกเลยนะครับว่าไปเที่ยวสวิส ไม่ยากเลยแม้จะไปด้วยตัวเองอย่างที่พวกเราไปคราวนี้ก็เช่นกัน ไม่มีอะไรยุ่งยาก เพราะทางการท่องเที่ยวสวิสได้ให้ความสะดวกสะบายสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติไว้อย่างมาก เช่น Swiss Travel Pass หรือ ตั๋วเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะในประเทศ ที่สามารถใช้ได้ทั้ง รถเมล์ รถราง รถไฟ และเรือ แถมมีพ่วงด้วยการให้เช้าชมพิพิธภัณฑ์ฟรีอีกหลายแห่งด้วย

การเข้าประเทศสวิส จำเป็นต้องขอวีซ่านะครับ โดยจะเป็นวีซ่าในกลุ่ม Schangen .... เรามาดูซิว่า ถ้าจะไปสวิส ต้องทำอะไรบ้าง


1. หนังสือเดินทาง (Passport) หนังสือเดินทางที่จะใช้ยื่นขอวีซ่าเชงเก้นเข้าสวิส ต้องมีอายุอย่างน้อย 30 วันครับ







 2. หลักฐานการจองตั๋วเครื่งบิน ที่พัก (สำหรับที่พักนี้จะต้องมีชื่อคนพักทุกคนด้วยนะครับ)

3. ภาพถ่าย 2 x 2 " จำนวน 2 ใบ

4. หลักฐานการประกันการเดินทางไม่ต่ำกว่า 1,500,000 บาท ต่อคน

5. เงินค่าวีซ่าประมาณ 60 ยูโร และค่าธรรมเนียมของ TLScontact อีก 863 (ตรวจสอบจากเวบ TLScontact อีกครั้ง)

6. แผนการเดินทาง โดยร่างขึ้นมาคร่าวๆโดยบอกวันที่ว่าเราจะไปไหน พักที่ไหน เป็นต้น

ตัวอย่างแผนการเดินทางโดยรถไฟ


7. เอกสารทางด้านการเงิน คือหนังสือรับรองจากธนาคารและสเตทเม้นท์ 6 เดือนย้อนหลังสำหรับบัญชีของเรา และทำไว้ค้ำประกันผู้เดินทางไปกับเรา เช่นเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วยอีกคนละสำเนา เพื่อแสดงว่าเรามีทรัพย์สินที่เมืองไทย และให้เขามั่นใจว่าเราจะกลับมา (อันนี้ขอได้จากธนาคารครับ โดยให้เขาเทียบเป็นเงินสวิสแฟรงค์ หรือ CHF ด้วย)

8. เมื่อเอกสารพร้อมก็ยื่นผ่านศูนย์ TLScontact ประเทศไทยซึ่งเป็นตัวแทนในการแจ้งและให้คำแนะนำแก่ผู้ประสงค์จะยื่นขอวีซ่าเข้าสวิส สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ https://ch.tlscontact.com/th/bkk/index.php?l=th  เมื่อทางศูนย์ TLScontact รับเรื่องแล้ว จากนั้นก็รอการอนุมัติวีซ่าอีกประมาณ 6-10 วันทำการครับ



เมื่อรายการขอวีซ่าผ่านเรียบร้อย ก็มาถึงขั้นที่เราจะต้องเตรียมการในการเที่ยวในสวิสกันบ้าง
อย่างแรกเลยคือ วางแผนว่าเราจะเดินทางในประเทศสวิสกันอย่างไร เช่น เช่ารถขับเอง เช่ารถและมีคนขับ หรือเดินทางไปตามเมืองต่างๆโดยรถไฟ ของเราใช้วิธีการเดินทางโดยรถไฟ และเลือกซื้อตั๋วแบบ 8 วัน โดยให้มีผลตั้งแต่เช้าวันแรกที่เราเดินทางไปถึง .... การซื้อตั๋ว Swiss Travel Pass มีหลายราคาครับ เข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ https://www.swiss-pass.ch/  แต่เขาจะมีตัวแทนในเมืองไทยด้วยนะครับ แนะนำให้ซื้อจากเมืองไทยไปเลย ถ้ารู้กำหนดการบินเรียบร้อย เพราะจะได้ใช้จากสนามบินเข้าเมืองได้เลย

เมื่อได้ตั๋วเสร็จอย่าลืมกรอกหมายเลข Passport และเซ็นชื่อด้วยนะครับ


ตัวอย่างตั๋วสวิสทราเวลพาสแบบ 8 วัน


ตัวอย่างบัตรเข้าชมพิพิธภัณฑ์ที่แถมมากับ Swiss Travel Pass




อันดับต่อมา ... การวางแผนเรื่องงบประมาณ อันนี้เป็นเรื่องของแต่ละท่านนะครับ แต่ให้นึกถึงค่าใช้จ่ายใสวิสที่แพงในอันดับต้นๆของโลกนะครับ โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน ตกประมาณจานละ 800-900 บาทเลยทีเดียว แต่เราก็มีวิธีเอาตัวรอดได้อยู่ดี คืออาศัย Supermarket เช่น Coop, Migros ซึ่งมีอาหารพวกแซนด์วิส อาหารกล่อง ที่ราคาถูกกว่าร้านอาหารทั่วไปมาก รวมทั้งน้ำดื่ม กาแฟ ด้วย ร้านพวกนี้จะเห็นตามสถานีรถไฟทั่วทุกแห่งครับ ไปอาศัยได้

สำหรับสกุลเงินที่ใช้ในสวิส จะเป็นเงินสวิสแฟรงค์ (Swiss Franc) ส่วนบัตรเครดิต เช่น VISA, Master card, American Express Card หรือ อย่างอื่นก็ใช้ได้โดยทั่วไป แต่อัตราแลกเปลี่ยนค่อนข้างสูง (เคยเช็ค ขณะที่ 1 CHF = 43 บาท ในไทย แต่เราจ่ายผ่านบัตร VISA เขาชาร์ทเรา 45 บาท/ 1 CHF) แต่ควรเตรียมเงินสดไว้บ้างครับ

ต่อมา ... ก็เสื้อผ้า อันนี้ขึ้นอยู่ว่าเราจะไปหน้าไหน เตรียมให้พอเหมาะครับ อากาศที่สวิสหน้าหนาว เอาการอยู่เหมือนกัน ตรวสอบอากาศให้ดีจากเวบ ผมใช้ผ่านมือถือตัวนี้ครับ https://play.google.com/store/apps/details?id=com.droid27.transparentclockweather&hl=en ตั้งชื่อเมืองไว้แล้วตามดูทุกวัน จะได้เอาเสื้อผ้าออกจากที่พักไปได้เหมาะสม




อีกเรื่อง ... ตารางรถไฟในสวิส เขามีแบบ online ครับสะดวกต่อการวางแผนการเดินทางมาก สำหรับติดตั้งบนมือถือ เข้าไปดูได้ที่ https://play.google.com/store/apps/details?id=ch.sbb.mobile.android.b2c&hl=en




ตัวอย่างหน้าเวบ SBB


รถไฟสวิส ... ในขบวนรถไฟ เราจะเห็นป้าย
SBB (Die Schwei Zerische Bundes-Bahnen) ภาษาเยอรมัน
CFF (Chemins de Fer Federaux) ภาษาฝรั่งเศส
FFS (Ferrovie Federali Svizzere) ภาษาอิตาลี

แต่รวมความแล้วคือรถไฟสวิสนั่นแหละ ... ทีนี่มาดูว่าเราจะยืนรอรถตรงไหนที่สถานี ตัวอย่างด้านล่างคือ ชานชาลาที่ 7 sektor B ในภาพถัดลงไปจะบอกว่า sektor B รถชั้นที่เท่าไหร่จะจอดตรงนั้น (ในภาพคือชั้นที่ 2)

ในภาพที่ 2 ด้านบนสุดจะเขียนว่า S33 หมายถึงรถไฟขบวนท้องถิ่น ที่ 33 ถัดไปทางขวาคือเวลาออก 10.42 และขวาสุดคือสถานีปลายทาง (Direction) บรรทัดถัดลงไปคือสถานีต่อไปที่จะจอด และบรรทัดล่างสุดคือ sektor B ก็จะมีชั้น 2และชั้นหนึ่งเข้าจอดครับ


ภายในตู้รถชั้น2


รถไฟในสวิสจะมีชนิดต่างๆคือ 

1. รถด่วน Intercity (IC) วิ่งให้บริการระหว่างเมืองใหญ่สู่เมืองใหญ่ ไม่จอดบ่อย
2. รถเร็ว InterRegio (IR) รถไฟระหว่าเมืองในภูมิภาค จอดน้อยสถานี
3. รถเร็ว RegioExpress (RE) วิ่งระหว่างเมืองในภูมิภาค ระยะทางไม่ไกลมาก จอดมากสถานีขึ้นมาหน่อย
4. Regio (R) หรือ S-Bahn รถไฟสายท้องถิ่น จอดทุกๆสถานี แต่ตรงเวลามากเหมือนกัน

รถไฟในสวิสไม่ค่อยแน่นมากเหมือนในญี่ปุ่น อาจจะเป็นเพราะรถเยอะวิ่งถี่ก็ได้ ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีที่นั่งแม้ไม่ได้สำรองที่ไปก็ตาม ... รถไฟสวิสจะมีแค่ชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 เท่านั้น ในชั้นที่ 1 ที่นั่งแต่ละแถวจะมีแค่ 3 ตัว ส่วนชั้นที่ 2 มี 4 ตัว บางขบวนมี 2 ชั้น บนและล่าง) ... เวลาเลือกก็เอาตามความเหมาะสม เช่นอยากชมวิว ก็เจ้า R หรือ S-Bahn นี่แหละ ถ้าจะเอาไวๆ เช่นจาก เบิร์น - เจนีวา ก็นี่เลย IC


ขบวนรถจอดเทียบชานชาลา


ป้ายในสถานีรถไฟ


ตารางรถไฟในสถานีใหญ่ๆ


 รถไฟสองชั้น




อีกเรื่องที่สำคัญ .... คือที่ฝากกระเป๋าสัมภาระในสถานี เนื่องจากคนสวิสหรือนักท่องเที่ยวชอบเดินทางโดยรถไฟมาก บางครั้งก็ติดสัมภาระไปด้วยเพื่อสะดวกต่อการไปทำงานหรือท่องเที่ยว เช่นเดินทางถึงอีกเมืองโรงแรมยังไม่ให้เช็คอิน แต่ต้องการไปเที่ยวหรือทำธุระ ก็จำเป็นต้องฝากกระเป๋าสัมภาระไว้ที่สถานีรถไฟ เป็นต้น

ตู้ฝากสัมภาระ หรือ Coin Locker ในสถานีรถไฟสวิสจะเป็นตู้สีน้ำเงินเมื่อเราไปถึงก็เลือกตู้ที่เปิดอยู่ และที่เหมาะกับสัมภาระเรา ถ้าตู้ขาดกลางราคาค่าฝากก็อยู่ที่ 5 CHF ต่อวัน ถ้าขนาดใหญ่ ก็ 9 CHF ต่อวันครับ

เราเลือกหาตู้ที่เปิดอยู่แล้วใส่สัมภาระเราเข้าไป ... อย่างเราเลือกตู้ใหญ่ใส่ดีๆได้กระเป๋า 24 นิ้ว 2 ใบและ 20 นิ้วอีก 1 ใบ ... เมื่อใส่ของเข้าไปเสร็จก็

1. หยอดเหรียญตามจำนวน (เตรียมเหรียญไว้ให้พอดีนะครับ) ตัวเลขดิจิตัลจะบอกเราว่าเราหยอดไปเท่าไหร่และเหลืออีกเท่าไหร่
2. เมื่อหยอดเหรียญครบ ก็จัดการปิดกุญแจ แล้วเอากุญแจติดตัวไป (ถ้าไม่หยอดเหรียญหรือหยอดไม่ครบจะปิดกุญแจไม่ได้นะครับ)
3. ถ่ายรูปตู้ไว้หน่อย กันลืมตอนมาไข


ตู้ฝากสัมภาระ


ทั้งหมดคือรายละเอียดที่ท่านต้องเตรียมตัว เพื่อจะไปเที่ยวสวิตเซอร์แลนด์กันครับ จขบ.ยอมรับว่าผู้คนในสวิสเป็นมิตรที่ดี มีหลายๆอย่างที่เราไม่เห็นจากดินแดนอื่น แต่ที่นี่มีให้เห็น นอกจากธรรมชาติที่สวยงามแล้ว บ้านเมืองในสวิสยังสะอาดสะอ้านอีกด้วย .... หวังว่าบทความนี้คงพอมีประโยชน์บ้างนะครับ.



สะพานข้ามแม่น้ำไรน์ไปเมืองเก่าที่ Stein Am Rhein



บ้านเรือนริมแม่น้ำไรน์ ที่ Stein Am Rhein

โบสถ์ซังต์ลอเรนเซ่น (St. LaurenzenKirche) เมือง St. Gallen


ทิวทัศน์ระหว่างทางรถไฟ


มัทเทอร์ฮอร์น (Matterhorn)


Sphinx Observation Terrace, Jundfraughjoch.


ลานหิมะจุงฟราวยอร์ค


วิวเจนีวา


สถานีรถไฟซูริค


___________

วันอังคารที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ไหว้พระที่พระธาตุดอยตุง เชียงราย



บล๊อกนี้จะพาท่านไปไหว้พระที่พระธาตุดอยตุง จังหวัดเชียงรายครับ วัดพระธาตุดอยตุงตั้งอยู่ไม่ไกลจากพระตำหนักดอยตุงมากนัก วัดพระธาตุดอยตุงเป็นที่เคารพสักการะของชาวเชียงรายและชาวไทยทั่วไป ..... วัดมีทางแยกออกจาพระตำหนักขึ้นไป โดยผ่านวัดน้อยดอยตุงด้วย ตามไปชมบรรยากาศกันเลยครับ


 รถเช่าขึ้นพระธาตุจากพระตำหนักดอยตุง


เราขึ้นไปถึงที่จอดรถหน้าพระตำหนักตอนซัก 8 โมงกว่าๆ แต่รถก็จอดกันเต็มพรืดไปหมดแล้ว ใครจะเข้าไปใกล้ๆทางเข้าชมพระตำหนักก็ให้รถวิ่งเข้าไปส่ง และกลับออกมา

เราเลยตัดสินใจเช่ารถสองแถวที่เห็นในภาพ ขึ้นไปไหว้พระธาตุดอยตุงก่อน ส่วนราคาที่เช่าขึ้นไปแล้วแต่ตกลงกัน วันนั้นเราไป 2 คนค่าเช่า 600 บาทครับ



 ทางขึ้นพระธาตุ


 จากวัดน้อยดอยตุง...ต้องเดินทางต่อไปอีกขึ้นไปอีก 1 กม.


ช่วงที่ไปทางที่จะขึ้นต่อไปที่พระธาตุ ต้องเดินขึ้น 1 กม. เขายังไม่ให้รถใหญ่ขึ้นครับ เราเลยเช่ามอร์เตอร์ไซด์ขึ้นไป ก็สะดวกดีนะครับ ไม่หวาดเสียวข้างทางด้วย




ถึงเชิงบันไดวัด...จะเดินขึ้นทางนี้ก็ได้


ยักษ์เฝ้าบันได


พอไปถึงบันไดทางขึ้น เราจะเดินขึ้นทางบันไดเองก็ได้ แต่วันนั้นรถมอเตอร์ไซด์ไปส่งเราถึงที่...คนขับน่าจะเป็นชาวเขา เราก้ว่าเป็นการดีทำให้คนพื้นที่มีรายได้


บริเวณวัดพระธาตุดอยตุง


พระธาตุดอยตุง

พระธาตุดอยตุง นับเป็นโบราณสถานอันเก่าแก่แห่งหนึ่งในภาคเหนือ ตามประวัติตำนานได้กล่าวไว้ว่า พระมหากัสสะปะเถระเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ได้อาราธนาอัญเชิญเอายังพระบรมสารีริกธาตุกระดูกไหปลาร้า (พระรากขวัญเบื้องซ้าย) ของพระพุทธเจ้า มามอบถวายแด่พระเจ้าอุชุตราชเจ้าผู้ครองนครนาคพันธ์โยนกชัยบุรี รัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์สิงหนวติ เป็นประธานพร้อมด้วยมุขมนตรีเสวกอำมาตย์ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินของพระองค์ ได้นำเอาพระบรมสารีริกธาตุขึ้นมาบรรจุสร้างขึ้น ณ ที่ดอยดินแดง (คือดอยตุงปัจจุบัน) สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.1454





ต่อมาอีก 100 ปี มีพระอรหันต์องค์หนึ่งชื่อว่า พระมหาวชิรโพธิเถร ได้นำเอาพระบรมสารีริกธาตุมามอบถวายให้พระเจ้ามังรายะนะธิราช แล้วจึงได้พร้อมใจกันนำเอาพระบรมธาตุขึ้นบรรจุสร้างใหม่ขึ้นมาอีกองค์หนึ่งบนดอยตุง พร้อมได้ปฏิสังขรณ์องค์เดิม จากนั้นมาก็ไม่ปรากฏหลักฐานรายนามผู้บูรณะปฏิสังขรณ์


องค์พระธาตุดอยตุง


บ่อศักดิ์สิทธิ์..ที่อยู่ข้างๆที่สักการะพระธาตุ


มุมกว้างจากทางเข้า


ลุถึง พ.ศ.2470 ครูบาศรีวิชัย นักบุญผู้ยิ่งใหญ่แห่งลำพูนพร้อมด้วยคณะศรัทธาชาวพุทธได้ทำการปฏิสังขรณ์องค์พระเจดีย์ พระวิหาร พระประธาน กาลเวลาผ่านพ้นมานานวิหารและพระประธานก็ถูกภัยธรรมชาติครอบงำชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ส่วนองค์พระเจดีย์นั้นยังมีรูปทรงปกติดีอยู่ ต่อมาประมาณปี พ.ศ.2499 ได้มีอุบาสิกาผู้หนึ่งอยู่ในจังหวัดพะเยา ชื่อว่า นางทองคำ ฮั้นตระกูล ได้มีกุศลเจตนาอันยิ่งใหญ่ ทำการลงรักปิดทองพระเจดีย์ทั้ง 2 องค์ ให้เหลืองอร่ามไปทั่ว


อีกมุมข้างโบสถ์


ในการบูรณะครั้งนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปทรงองค์พระเจดีย์กันใหม่ ออกแบบโดยอาจารย์ประกิต(จิตร์) บัวบุศน์ องค์พระเจดีย์บุด้วยกระเบื้องโมเสดสีทอง มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป 8 ซุ้ม มีฉัตรประดับทั้ง 4 มุมดังที่เห็นปรากฎวันนี้ ต่อมาประมาณปี พ.ศ.2525 ได้มีอุบาสกคนหนึ่งชื่อ ไศลยนต์ ศรีสมุทร์ เจ้าของและผู้จัดการตลาดแม่สาย ได้มีกุศลเจตนาอันแรงกล้า ได้ทำการเทลานพระธาตุและพร้อมกันนั้นทางวัดก็ได้ทำการก่อสร้างรั้วรอบบริเวณลานพระธาตุอีกโสดหนึ่ง



ตัวมอม ตรงทางขึ้นหอระฆัง...(ขอบคุณคุณตุ๊กที่ช่วยแชร์ครับ)


ตัวมอม
ลักษณะ : รูปร่างคล้ายราชสีห์ผสมมังกร ในทางศิลปะล้านนานั้นช่างปั้นบางครั้งก็ปั้นให้ดูคล้ายตุ๊กแก กิ้งก่า หรือค่าง ลักษณะของศิลปะนั้นได้รับอิทธิพลจากจีน ส่วนในศิลปะลาวและอีสานนั้น เชื่อว่า มอมเป็นสิงห์จำพวกหนึ่ง ช่างนิยมปั้นให้มีลักษณะคล้ายสิงห์ลำตัวยาวประดับราวบันได หรือปั้นคล้ายสุนัขขนาดใหญ่มีแผงคอและแผงหลัง และชาวอีสานถือว่ามอมเป็นสัตว์มงคลที่ปรากฏอยู่ในลายสักร่างกายของคนสมัยโบราณด้วย

ความเชื่อ : มอมเป็นสัตว์ที่มีฤทธิ์และอาคมเหนือมนุษย์แต่ไม่สามารถอยู่ในบรรลุได้ ทำให้ถูกสร้างเป็นปฏิมากรรมเฝ้าศาสนสถานเหมือนปฏิมากรรมอื่นๆ เพื่อสื่อให้เห็นความยึดติดที่ทำให้เพียงแต่อยู่ตามเทวสถาน ไม่สามารถบรรลุได้

ที่มา : วิกิพีเดีย


พระธาตุดอยตุง


คำไหว้พระธาตุดอยตุง : นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ....(สามจบ) พิมพา ธะชัคคะ ปัพพะเต นะจุฬาธาตุ จิรัง มะหาคะมา นะมามิหัง อะหังวันทามิ สัพพะทาฯ (สามจบ)



ตามทางลงมีระฆังแขวนไว้ตลอดแนว


วัดน้อยดอยตุง


หอระฆังวัดน้อย


ไหว้พระในโบสถ์




ตอนกลับลงมา เราแวะไหว้พระที่วัดน้อยดอยตุง ตรงที่เขาให้รถใหญ่ไปจอด....เมื่อก่อนที่ขึ้นมายังไม่เคยเห็นวัดนี้ น่าจะสร้างขึ้นมาเมื่อไม่นานมานี้ แต่ยังหาประวัติไม่เจอ

หลังจากไหว้พระและทำบุญแล้วเราเดินทางลงไปที่พระตำหนัก เพื่อเข้าเยี่ยมชมพระตำหนักและชมสวน หลังจากที่ไม่ได้มาที่นี่ไม่น้อยกว่า 3 ปี...เจอกันใหม่บล๊อกต่อไปครับ


💘💘ขอบคุณที่ตามอ่านครับ💘💘


ลาด้วยภาพหมู่บ้านชาวเขา..ถ่ายระหว่างทางจากพระาตุดอยตุง - วัดน้อยดอยตุง



----------------------

วันพฤหัสบดีที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2560

พระเจดีย์ประจำปีขาล..วัดพระธาตุช่อแฮ แพร่



เมืองแพร่ ... คิดถึงเมืองแพร่ทีไร คิดถึงไม้สักมากมายในสมัยโบราณ คิดถึงโรงเรียนป่าไม้เมืองแพร่แห่งแรกของไทย และที่อดคิดถึงไม่ได้คือร้านเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้ที่ อ.สูงเม่นและ อ.เด่นชัย ครับ .... แต่บล๊อกนี้จะไม่ได้พาท่านไปเที่ยวชมเรื่องพวกนั้น แต่จะพาท่านไปไหว้พระประจำปีเกิด ปีขาล ที่วัดพระธาตุช่อแฮครับ



ว่ากันว่า "บุคคลใดที่มาเที่ยวจังหวัดแพร่แล้วจะต้องมานมัสการพระธาตุช่อแฮ เพื่อเป็นศิริมงคลกับตนเอง จนมีคำกล่าวว่าถ้ามาเที่ยวจังหวัดแพร่ แต่ไม่ได้มานมัสการพระธาตุช่อแฮเหมือนไม่ได้มาจังหวัดแพร่" อันนี้น่าจะจริงครับ เราผ่านเมืองแพร่ทุกครั้งต้องแวะไหว้พระที่นี่ทุกครั้ง ถ้าไม่แวะเหมือนกับขาดอะไรซักอย่างที่อยากทำนั่นเอง

ทางขึ้นวัด

การเดินทางมาเที่ยววัดพระธาตุช่อแฮ ถนนสายหลัก คือ ถนนช่อแฮ เริ่มตั้งแต่สี่แยกบ้านทุ่ง อำเภอเมืองแพร่ ซึ่งเป็นสี่แยกใจกลางเมืองแพร่ เข้าสู่ถนนช่อแฮ และตรงไปตามถนนช่อแฮ ผ่านโรงพยาบาลแพร่ สนามบินจังหวัดแพร่ หมู่บ้านเหล่า หมู่บ้านนาจักร หมู่บ้านแต (กวีรัตน์) หมู่บ้านมุ้ง สถานที่ตั้งของวัดพระธาตุช่อแฮอยู่ในบริเวณเขตเทศบาลตำบลช่อแฮ ด้วยระยะทาง 9 กิโลเมตร จากตัวเมืองจังหวัดแพร่




วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง 

เป็นวัดที่ตั้งอยู่เนินเขาเตี้ยสูงประมาณ 28 เมตร องค์พระธาตุช่อแฮเป็นเจดีย์ศิลปะเชียงแสนแบบแปดเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง บุด้วยทองดอกบวบหรือทองจังโก องค์พระธาตุสูง 33 เมตร ฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 11 เมตร ลักษณะองค์พระธาตุตั้งอยู่บนฐานเขียงสี่เหลี่ยม 1 ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นฐานหน้ากระดานแปดเหลี่ยม 3 ชั้นรองรับ ถัดไปเป็นฐานบัวคว่ำและชุดท้องไม้แปดเหลี่ยม ซ้อนลดชั้นกันขึ้นไป 7 ชั้น จากนั้นเป็นบัวระฆัง 1 ชั้น และหน้ากระดานหนึ่งชั้น จนถึงองค์ระฆังแปดเหลี่ยม ถัดขึ้นไปเป็นบัลลังก์ย่อมุมไม้สิบสองและปล้องไฉน ส่วนยอดฉัตรประดับตกแต่งด้วยเครื่องบนแบบล้านนา มีรั้วเหล็กรอบองค์พระธาตุ 4 ทิศ มีประตูเข้าออก 4 ประตู แต่ละประตูได้สร้างซุ้มแบบปราสาทล้านนาไว้อย่างสวยงาม











องค์พระประธานในวิหาร

ระหว่างจุลศักราช๕๘๖-๕๘๘(พ.ศ.๑๘๗๙-๑๘๘๑)ในสมัยพระมหาธรรมราชา(ลิไท) ได้เสด็จมาบูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์แห่งนี้ จากนั้นได้จัดงานสักการะ ๗ วัน ๗ คืน จึงได้ชื่อว่า "พระธาตุช่อแฮ" (คำว่า "แฮ" เป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า "แพร" แปลว่า ผ้าแพร) และในปีพ.ศ.๒๔๖๗ ครูบาศรีวิชัย ได้มาเป็นประธานบูรณปฏิสังขรณ์อีกครั้งหนึ่ง

กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนองค์พระเจดีย์พระธาตุช่อแฮ เป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๒ ตอนที่ ๗๕ ลงวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๘ และได้ประกาศกำหนดขอบเขตโบราณสถาน เล่มที่ ๙๗ ตอนที่ ๑๕๙ ลงวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๓๒

พระประจำวันเกิดรอบๆกำแพงแก้ว


ตำนานพระธาตุช่อแฮในพระราชพงศาวดารว่าด้วยกรุงสุโขทัย

พระราชพงศาวดารว่าด้วยกรุงสุโขทัย หอสมุดแห่งชาติ กล่าวถึงวัดพระธาตุช่อแฮว่า สร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. 1879-1881 ในสมัยที่พระมหาธรรมราชา (ลิไท) ยังเป็นพระมหาอุปราชซึ่งครองเมืองศรีสัชนาลัยอยู่ในครั้งนั้น พระองค์โปรดให้สร้างสถานที่สำคัญทางศาสนาตามที่ปรากฏในพุทธประวัติในที่ต่าง ๆ รวมทั้งที่เมืองแพร่ซึ่งอยู่ในขอบขัณฑสีมาของกรุงสุโขทัย พระมหาธรรมราชาลิไทพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุแก่ขุนลัวะอ้ายก้อมให้นำมาบรรจุไว้ในฐานเจดีย์ เมื่อขุนลัวะอ้ายก้อมมาถึงบริเวณดอยโกสิยธชัคคะเห็นว่าทำเลดีจึงสร้างเจดีย์ขึ้น และนำผอบพระบรมสารีริกธาตุบรรจุไว้ในสิงห์ทองคำ สร้างแท่นที่ตั้งผอบด้วยเงินและทอง แล้วตั้งสิงห์ทองคำไว้โดยโบกปูนทับอีกชั้นหนึ่ง หลังจากนั้นก็จัดงานบำเพ็ญกุศลเฉลิมฉลอง 7 วัน 7 คืน ภายหลังเมืองแพร่ถูกรวมเข้ากับอาณาจักรล้านนาไทยกษัตริย์ล้านนาก็ทรงได้ทะนุบำรุงพระธาตุช่อแฮตามลำดับ จนกระทั่งราชวงศ์นี้หมดอำนาจลง พระธาตุช่อแฮก็ทรุดโทรมเป็นอันมากจนล่วงมาถึง พ.ศ. 2467 ครูบาศรีวิชัย (หรือตุ๊เจ้าวัดบ้านปาง จังหวัดลำพูน) ได้เป็นประธานบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุร่วมกับคณะสงฆ์จังหวัดแพร่ และมีพระมหาเมธังกร (พรหม พรหมเทโว) อดีตเจ้าคณะจังหวัดแพร่ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ในการบูรณปฏิสังขรณ์ จนทำให้พระธาตุช่อแฮกลับมามีความงดงาม และเป็นแหล่งเชิดหน้าชูตาของจังหวัดแพร่


ซุ้มประตูที่สวยงาม

วิวจากซุ้มประตูทางขึ้นวัด..ถนนด้านหน้าคือถนนช่อแฮ ตรงไปเมืองแพร่


จังหวัดแพร่ .... ได้จัดงานประเพณีนมัสการองค์พระธาตุช่อแฮ โดยยึดถือตามจันทรคติ ในระหว่างวันขึ้น ๙ ค่ำ - ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ใต้ เดือน ๖ เหนือ ของทุกปีโดยใช้ชื่องานว่า "งานประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮเมืองแพร่แห่ตุงหลวง"ด้วยความสำคัญดังกล่าวจังหวัดแพร่นำองค์พระธาตุช่อแฮ ประดิษฐานบนหลังม้าเป็นตราสัญลักษณ์ของจังหวัดและ นำมาเป็นคำขวัญประจำจังหวัดแพร่ ดังนี้   "หม้อห้อมไม้สัก ถิ่นรักพระลอ ช่อแฮศรีเมือง ลือเลื่องแพะเมืองผีคนแพร่นี้ใจงาม"


ลาด้วยภาพนี้ครับ


_______________