วันนี้ผมมาเชียงคานถ้าจำไม่ผิดก็น่าจะเป็นครั้งที่สี่แล้ว คือมาที่นี่ตั้งแต่เชียงคานยังไม่ดัง ตอนนั้นผู้คนรู้จักเชียงคานก็เพียงแก่งคุดคู้ที่ขึ้นชื่อเรื่องกุ้งเต้น... จากวันนั้นถึงวันนี้ เชียงคานถ้าเปรียบเป็นหญิงสาว ก็เป็นหญิงสาวสวยที่กำลังโตเต็มที่ มีหนุ่มๆมากมายหลายคนมาจีบหรือมาชมความงามของเชียงคาน และเชียงคานเองก็กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดยั้งซะด้วย..
จุดที่แม่น้ำโขงไหลจากประเทศลาว มาพบกับลำน้ำเหืองตรงชายแดนไทย
มาเชียงคานคราวนี้ ตั้งใจว่าจะมาร่วมงานออกพรรษาที่นี่ ซึ่งจะว่าไปแล้วงานนี้ทางจังหวัดและทาง ททท.เลยเขาโปรโมทกลายเป็นงานระดับชาติไปอีกหนึ่งอีเวนท์แล้ว ผู้คนจึงหลั่งไหลมากันในช่วงนี้มากมาย ประกอบกับอากาศที่กำลังเย็นสบาย ไม่ร้อนมาก สถานที่พักบริเวณรอบๆถนนชายโขงจึงเต็มสนิทตั้งแต่ก่อนงานตั้งหลายวัน ... ภาพที่จะได้เห็นต่อไปนี้ เป็นเพียงส่วนน้อยของงานที่เกิดขึ้นที่เชียงคานในช่วงวันออกพรรษาครับ.
เราโทรจองที่พักในเชียงคานตอนที่เราเดินทางมาถึง อ. ชุมแพ จ.ขอนแก่น
ได้ที่พักเป็นรีสอร์ทนอกเมืองไปตามถนนสาย เชียงคาน-ท่าลี่
ห่างจากตัวเชียงคานไม่ไกลนัก
วันนี้เรามาถึงเชียงคานเอาตอนประมาณเที่ยงวันเลยต้องแวะเข้าไปคอนเฟิร์มที่พักก่อน
เพราะเกรงว่าเจ้าของเขาจะขายห้องไปถ้าเราไม่ไปแสดงตัว
สิ่งแรกที่เราอยากทำหลังจากได้ที่พักเรียบร้อยแล้ว คือ การไปไหว้พระใหญ่
ซึ่งห่างจากตัวเมืองเชียงคานไปทางท่าลี่ประมาณ 21 กม.
เพราะมาที่นี่ทีไรมีอันจะต้องพลาดทุกครั้งไป...เส้นทางที่ไปพระใหญ่วันนี้
ขลุกขลักมาก เป็นหลุมเป็นบ่อตลอด บางช่วงเหมือนเป็นลูกรังด้วยซ้ำ
(ไม่รู้เหมือนกันนะ เมืองท่องเที่ยวระดับนี้ ปล่อยไว้แบบนี้ได้ไง)
พระใหญ่สร้างอยู่บนยอดเขาที่ด้านล่างเป็นจุดบรรจบกันของลำน้ำเหืองกับแม่น้ำโขง ตรงจุดที่แม่น้ำโขงไหลมาจากประเทศลาวมาแบ่งขตไทย-ลาวตรงรอยต่อนั้นพอดี .... ได้คุยกับน้องคนหนึ่งที่เขาไปไหว้พระเหมือนกัน น้องเขาบอกว่า "พระใหญ่ปรางค์ห้ามญาติ องค์นี้สร้างโดยทหาร เพื่อเป็นจุดสังเกตุเวลาเครื่องบินบินลาดตระเวน ที่บ่อยครั้งจะเลยเข้าไปในประเทศเพื่อนบ้าน"
หลังจากที่ไหว้พระใหญ่เสร็จ ก็ฝ่าถนนโลกพระจันทร์ กลับมาที่ อ.เชียงคาน เพื่อเดินชมความเปลี่ยนแปลงบนถนนคนเดิน หรือ "ถนนชายโขง" ... เพราะวันนี้เป็นวันออกพรรษา 19 ต.ค. 2556 บนถนนจึงมีผู้คนมากมายที่มารอชมขบวนแห่ "ผาสาดลอยเคราะห์" รวมถึงการแข่งเรือที่แม่น้ำโขงด้วย ส่วนการแห่ผาสาดมีกำหนดการที่จะแห่ในช่วงค่ำประมาณ 17.00 น. อีกอย่างหนึ่งที่มีผู้คนมากมายคือ งานออกพรรษาที่เชียงคานเป็นงานโปรโมทระดับจังหวัดและระดับประเทศไปแล้ว
แข่งเรือในวันออกพรรษาที่เชียงคาน
เชียงคานยามบ่าย
งานแห่ผาสาดลอยเคราะห์ เป็นสิ่งที่คนที่นี่ทำเป็นประเพณีต่อเนื่องกันมานาน
ซึ่งแตกต่างจากที่อื่น
เนื่องจากคนอีสานหรือคนในเชียงคานเชื่อว่า
การที่บุคคลเจ็บป่วยและไม่สบายโดยไม่ทราบสาเหตุแม้จะไปหาหมอ
ก็ไม่ทราบว่าเป็นอะไรกันแน่ เดี๋ยวเป็น เดี๋ยวหาย
ก็เนื่องมาจากการกระทำของเจ้าที่หรือผีบ้านผีเมือง
การลอยผาสาดจึงเป็นการลอยเอาสิ่งที่ไม่เป็นมงคลทิ้งไปกับกระทงที่เรียกว่า "ผาสาด"
ผาสาด เป็นกระทงสี่เหลี่ยม ที่ทำจากกาบกล้วยสด มีกรวยใบตองอยู่ตรงกลาง ประดับด้วยดอกไม้สีเหลืองหรือขี้ผึ้ง แต่งให้พองาม ใส่เครื่องบูชาคาวหวานลงไปในนั้น แล้วนำไปลอยในแม่น้ำโขง ส่วนขนาดของผาสาด มีทั้งขนาดเล็กเท่ากับกระทง และขนาดใหญ่กว้างยาวเป็นเมตร เวลาเขาแห่ผ่านไป ผู้คนจะเอาเงินไปใส่ในผาสาดนั้นเพื่อยเคราะห์ออกไปด้วย..
ขบวนแห่ผาสาด
(บนซ้าย : กุ้งฝอยทอด บนขวา : ปาท้องโก๋ยัดใส้ ล่างซ้าย : หมูยอนึ่ง ล่างขวา : กุ้งน้ำโขง)
ที่ถนนคนเดินวันนี้มีคนเยอะมาก เพราะหลายๆคนอยากมีส่วนร่วมในการแห่ผาสาดลอยเคราะห์ ที่วันนี้เปลี่ยนเวลาการแห่เล็กน้อย คือเริ่มแห่เอาเกือบทุ่มแล้ว เลยทำให้ช่วงแห่นั้นถ่ายภาพได้ยากมากพอขบวนแห่ผ่านมาผู้คนก็นำเงินหยอดลงไปในกระทงหรือผาสาดอันใหญ่ที่แห่มาในขบวน ขบวนจัดเป็นตอนๆ โดยมีผู้ใหญ่ในพื้นที่ (ประมาณคุณน้าหรือคุณป้า) ในแต่ละตนนั้น จะมีการรำตามประเพณีชาวอีสาน รวมทั้รำวงแบบลาวที่เรียกว่า บาสะโลบด้วย.
เสร็จจากขบวนแห่ คณะก็ไปรวมกันที่ลานหน้าวัดท่าคก แล้วร่วมรำที่นั้นซึ่งเขาเรียกว่ารำถวายพญานาค ก่อนที่จะเริ่มนำผาสาดไปลอยในแม่น้ำโขง รวมทั้งการไหลเรือไฟด้วย ... เรือไฟที่นี้ประดับด้วยหลอดนีออน (เหมือนที่ใช้ในการโฆษณา) ใช้เครื่องปั่นไฟบนแพนั้น ผิดกับที่นครพนม ที่นั่นเขาใช้ตะเกียงน้ำมันจุดไฟเอา
บนถนนคนเดินช่วงค่ำคึกคักมาก สินค้าพื้นเมืองมากมายเอามาวางขาย รวมทั้งของกินด้วย การเล่นดนตรีเปิดหมวก การวาดภาพ และการละเล่นหลายอย่างมีให้เห็นเหมือนถนนคนเดินทั่วไป
ดึกพอประมาณเราขับออกจากถนนศรีเชียงคาน (เราเอารถไปจอดไว้แถวๆปากซอย 13) กลับที่พัก ... ขณะเดินทางกลับก็ลำดับภาพที่เห็นที่เชียงคานในวันนี้ ซึ่งแน่หละจากสาวน้อยเชียงคานที่น่ารัก ก้าวขึ้มาทัดเทียมเมืองท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม อย่าง ปาย, วังเวียงในลาว, และซาปาในเวียดนาม ย่อมโดนวัฒนธรรมตะวันตกไหลบ่าเข้ามา จนเชียงคานวันนี้เป็นสาวใหญ่ที่ฉาบแก้มด้วยเครื่องสำอางค์และปรุงแต่งด้วยเคมีภัณฑ์ จนเหลือความเป็นตัวเองที่เคยได้รับการยกย่องถึงวัฒนธรรมอันดีงามน้อยเข้าไปทุกที
เชียงคาน เราอยากเห็นเธอยังคงเป็นเชียงคานเหมือนเมื่อเราแรกเจอกัน ถ้าจะแต่งแต้มด้วยสีแสงและวัตถุสมัยใหม่ ควรเลือกให้ออกไปอยู่ด้านนอกจากถนนชายโขง ยังไงๆก็ยังอยากเห็นที่แห่งนี้เป็นสาวสวยคนเดิมตลอดไป .....
"ฮักนะ เชียงคาน"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น