วันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2558

แอ่ว...ดอยอ่างขาง




วันนี้ จะพาเดินทางชึ้นเหนือไปไกลสุดถึงโครงการหลวงดอยอ่างขางครับ ไปท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็นในช่วงหน้าหนาว ส่วนจะพาไปที่ใดบ้าง ตามเข้าไปอ่านเลยครับ.

ต้องออกตัวก่อนนะครับ ว่าภาพในบล๊อกนี้อาจจะไม่สดใสเท่าที่ควร เพราะ 1.อากาศช่วงนั้นขมุกขมัวมาก และ 2.กล้องที่ใช้ถ่ายเป็นกล้องสำรอง (ตัวที่ใช้ประจำเดี้ยงอยู่ครับ) ออกตัวไว้ก่อน ... ที่จริงฝีมือไม่มีต่างหาก .... ถึงภาพจะไม่สวย ก็ดูเอาบรรยากาศละกันนะครับ


แผนที่การเดินทาง



เมื่อคืนวันที่ 20 ธันวาคม 2557 เราค้างคืนกันที่โรงแรมแถวๆแม่มาลัย ทางที่จะแยกไปปาย แม่ฮ่องสอน สายใหม่ เพื่อที่จะเข้าใกล้ดอยอ่างขางให้มากที่สุด เพราะไม่เคยไปที่นี่นานแล้วเหมือนกัน อีกอย่างวันนี้เราจะใช้เส้นทางใหม่ (ที่เราไม่เคยใช้มาก่อน) ไกลหน่อยแต่ไม่ชันมาก

เส้นทางนี้จะเริ่มที่ กม. 79 (ตามทาง 107) เลย อ.เชียงดาวไปไม่ไกล แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามถนนหมายเลข 1178 ผ่าน ต.นาหวาย ไปบ้านอรุโณทัย ระยะทางประมาณ 46 กม. แล้วเลี้ยวขวาผ่านโรงเรียนบ้านอรุโฌทัย ไปตามเส้นทาง 1340 ถึงดอยอ่างขางอีก 41 กม. รวมระยะทาง ประมาณ 87 กม. ซึ่งทางนี้เขาไม่ชันมาก แต่ทางค่อนข้างแคบ


 
บ้านอรุโณทัย


เข้าสู่บ้านอรุโณทัยก็ตกใจเล็กๆเหมือนกันว่า เอนี่เราหลงเข้าไปในประเทศจีนแล้วหรือไง เพราะผู้คนที่นี่หน้าตาก็จีนทั้งนั้น...สืบค้นดูจึงรู้ว่านี่คือหมู่บ้านของทหารจีนคณะชาติ เช่นเดียวกับที่แม่สลอง..

หมู่บ้านอรุโณทัยเดิมชื่อ “บ้านหนองอุก” เริ่มมีผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานซึ่งส่วนใหญ่เป็นครอบครัวทหารจีนคณะชาติ(ทจช.) ทัพ 3 ของนายพล หลี่เหวินห้วน หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกองบัญชาการทหารสูงสุด เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2513 เห็นควรให้ทหารจีนคณะชาติ และครอบครัวอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ในฐานะผู้อพยพ

ในช่วงปีพ.ศ. 2513-2525 กองกำลังทหารจีนคณะชาติ(ทจช.) ทัพสามบ้านถ้ำง้อบ และทัพห้าบ้านแม่สลองได้ส่งกำลังทหารของคนในนามกองร้อยอาสาสมัครไทยไปช่วยเหลือทางราชการไทยในการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิส(ผกค.) ทั้งในพื้นที่ดอยผาหม่น จ.เชียงราย และพื้นที่เขาค้อ เขาย่า จ.เพชรบูรณ์ จน ผกค. พ่ายแพ้ในที่สุด ต่อมา เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2521 คณะรัฐมนตรี ได้มีมติให้สิทธิพิเศษแก่ บุคคลที่ช่วยเหลือทางราชการ ในด้านการสู้รบ ส่งผลให้อดีต ทจช. และครอบครัวได้รับสัญชาติไทยเป็นกรณีพิเศษ ... หมู่บ้านอรุโณทัยภายใต้การบริหารงานของผู้นำหมู่บ้าน และคณะกรรมการหมู่บ้านจากชุมชนเล็กๆพัฒนาเจริญก้าวหน้าในด้านต่างๆจนกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่


ระหว่างทางสู่ดอยอ่างขาง


เมื่อขับต่อไปเรื่อยๆ จะเจอด่านทหาร ถ้าตรงไปจะออกชายแดนพม่า เราเลี้ยวขวาไปตาม 1340 เลาะเขาไป ทางจะค่อยๆขึ้นสู่เขาสูงขึ้น แต่สภาพถนนบางช่วงไม่ค่อยดีนัก รถเก๋งเตี้ยควรขับแบบระมัดระวัง โชคดีที่เราใช้ CRV เครื่อง 2400 รุ่นล่าสุด ช่วงล่างสูงหน่อยจึงไม่ค่อยมีปัญหานัก


พักรถ พักคน ชมวิวข้างทาง


ระหว่างทางจะผ่านหมู่บ้าน (ชาวเขา) และที่พักริมทาง มีที่ขายของฝาก พวกชา ผลไม้เมืองหนาวต่างๆ พร้อมทั้งจุดชมวิวและที่เข้าห้องสุขา วันที่เราไปมีรถสวนลงมาไม่มาก อาจเป็นเพราะยังเช้าอยู่ก็ได้


ประมาณ 10 โมงเช้าเราก็ถึงโครงการหลวงดอยอ่างขางอย่างปลอดภัย อากาศที่ดอยช่วงธันวาคมเย็นสบายดี ประมาณ 10 กว่าองศาแม้จะใกล้เที่ยงวันแล้วก็ตาม


ภายในโครงการหลวงดอยอ่างขาง


รู้จักสถานีเกษตรดอยอ่างขางกันหน่อย

สถานีเกษตรหลวงอ่างขางเป็นสถานีวิจัยแห่งแรกของโครงการหลวง จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2512 ตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีพระราชประสงค์ให้ชาวไทยภูเขาที่อาศัยอยู่ตามดอยต่าง ๆ ทางภาคเหนือเลิกการปลูกฝิ่นและทำไร่เลื่อนลอยอันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ป่าไม้และต้นน้ำลำธารของประเทศถูกทำลาย สถานีเกษตรหลวงอ่างขางเป็นสถานีที่ทดลอง ค้นคว้าวิจัยพืชเมืองหนาวเพื่อนำผลการทดลอง ค้นคว้า และวิจัยไปส่งเสริมให้ชาวไทยภูเขาในพื้นที่ปลูกทดแทนฝิ่น

สถานที่ตั้งและลักษณะทั่วไป

- ที่ตั้ง ตั้งอยู่ในเขตหมู่บ้านคุ้มหมู่ที่ 5 ต.แม่งอน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,400 เมตร พื้นที่ประมาณ 1,811 ไร่

- ภูมิประเทศ บริเวณดอยอ่างขางมีลักษณะเป็นแอ่งรูปรีคล้ายกะทะประกอบด้วยเขาหินปูน และเขาหินดินดาน ความลาดชันของพื้นที่ไหล่เขาสองด้านระหว่าง 15 - 45 เปอร์เซ็นต์ ยอดเขาที่สูงที่สุดของเทือกเขาอ่างขางสูงประมาณ 1,920 เมตร พื้นที่ราบบริเวณที่ตั้งของสถานีฯ สูง 1,400 เมตร ลาดจากเหนือลงใต้

- ภูมิอากาศ มีอากาศหนาวเย็นยาวนานและมีอุณหภูมิต่ำมากในฤดูหนาว ภูมิอากาศปี 2554 อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 13.7 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 22.0 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝน (ต.ค.52-ก.ย.54) รวม 2,394.30 มิลลิเมตร

- ประชากรที่อยู่อาศัย มี 9 หมู่บ้านที่รับการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ ดังนี้ หมู่บ้านส่งเสริมหลัก 5 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านขอบด้ง บ้านนอแล บ้านหลวง บ้านคุ้ม และ บ้านปางม้า หมู่บ้านส่งเสริมรอง 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านผาแดง บ้านถ้ำง๊อบ บ้านสินชัย และบ้านป่าคา ประชากร มี 4 ชนเผ่า ได้แก่ ไทยใหญ่ มูเซอดำ ปะหล่อง และ จีนยูนนาน


ที่มา : มูลนิธิโครงการหลวง




ที่พักและร้านอาหาร บนดอยอ่างขาง

- บ้านพักรับรองภายในศูนย์ฯ จำนวน 18 หลัง
ขนาดพัก 2 คน ราคา 1,000-1,200 บาท/หลัง/คืน
ขนาดพัก 6 คน ราคา 1,200-1,800 บาท/หลัง/คืน
และขนาดพัก 40 คน ราคา 150 บาท/คน/คืน

- เต็นท์บริการ ขนาด 2-3 คน ราคา 150 บาท/หลัง/คืน หากรวมถุงนอนราคา 300 บาท/หลัง/คืน ขนาด 4-5 คน ราคา 300 บาท/หลัง/คืน หากรวมถุงนอน ราคา 500 บาท/หลัง/คืน กรณีนำเต็นท์มาเองคิดค่าบริการพื้นที่คนละ 20 บาท

- มีร้านอาหารและเครื่องดื่มภายในสโมสรอ่างขาง
หมายเหตุ.- กรุณาสำรองที่พักล่วงหน้าก่อนเดินทางอย่างน้อย 1 เดือน โทร. 0-5345-0107-9

สถานที่ติดต่อ
- สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง บ้านคุ้ม หมู่ 5 ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ 50320 โทร. 0-5345-0107-9

ในสวนหลวง 80 ปี


ดอกนางพญาเสือโคร่งกำลังบาน


ชาวเขานำสินค้ามาขายหน้าร้านอาหารในโครงการหลวง



การเข้าชมที่โครงการเกษตรดอยอ่างขาง ต้องจ่ายค่าเข้าชมคนละ 30 บาท และถ้าเอารถเข้าคิดคันละ 50 บาท (แนะนำให้ขับเข้าไป เพราะเดินค่อนข้างไกล) ช่วงไปถึงเป็นช่วงเกือบเที่ยง เราแวะจะไปทานมื้อเที่ยงกันที่นั่น แต่โต๊ะเต็มต้องรอคิวนานมาก เราจึงตัดสินใจออกไปหาที่พัก เพราะที่พักด้านในเต็มมานานแล้ว ... เราได้ที่พักชื่อโรงแรมจี๊ดจ๊าดในหมู่บ้านคุ้ม ซึ่งเพิ่งสร้างใหม่เสร็จใหม่ๆ สภาพเยี่ยมห้องละ 1500 บาทรวมอาหารเช้า ... พอบ่ายกว่าๆเราถึงย้อนเข้ามาทานมื้อเที่ยงใหม่ คราวนี้สำเร็จ ... โดยรวมรสชาติอาหารดีครับ



ร้านอาหารในโครงการหลวง



สวนในโครงการฯ



โรงแรมจี๊ดจ๊าด ที่พัก



ฐานปฏิบัติการบ้านนอแล


ฐานของพม่าที่อยู่บนเขาอีกลูก


ฐานของพม่าที่อยูติดกับฐานเรา


ขบวนบิ๊กไบท์ที่เข้ามาชมฐานปฏิบัติการบ้านนอแล


ร้านขายของฝากหน้าฐานนอแล



วิวก่อนขึ้นฐานนอแล




 
วิวจากบ้านขอบด้งและไรสตอเบอรี่


หมู่บ้านขอบด้ง เป็นหมู่บ้านของชาวมูเซอดำ ซึ่งภายในหมู่บ้านจะมีศูนย์หัตถกรรมที่ จำหน่ายสินค้าที่ระลึก เช่น กำไลหญ้าอิบูแค ตะกร้า... บ้านขอบด้งอยู่ทางเดียวกับเส้นทางไปฐานปฏิบัติการบ้านนอแล จะมีป้ายบอกทาง ถึงป้ายเลี้ยวขวาเข้าไปจะเป็นถนนคอนกรีตลงเขาเล็กน้อย ทางแคบต้องระวัง ขับเข้าไปจอดหน้ามูลนิธิในหมู่บ้านได้เลย .. รอบๆหมู่บ้านจะมองเห็นไร่สตอเบอรี่มากมาย





ไนท์ไลท์ที่บ้านคุ้ม ดอยอ่างขาง


ที่พักเราในยามค่ำคืน


 
เด็กๆไปโรงเรียนท่ามกลางอากาศหนาวเย็นในตอนเช้า


บรรยากาศยามเช้าที่ อ.ฝาง เชียงใหม่


เราออกเดินทางจากบ้านคุ้ม หน้าโครงการหลวงดอยอ่างขางไปตามเส้นทาง 1249 เพื่อไปสู่เส้นทาง 107 (เชียงใหม่ - ฝาง - ท่าตอน) ที่แยกหน้าวัดหาดสำราญ แล้วเลี้ยวซ้ายเพื่อไปฝาง ท่าตอน และต่อไปที่ดอยแม่สลอง โดยมีโปแกรมไหว้พระและชมไร่ชาที่นั่น ..

มาดอยอ่างเที่ยวนี้ได้เห็นอะไรเปลี่ยนแปลงมากมาย หมู่บ้านคุ้มพัฒนาขึ้นไปมาก โรงแรมและรีสอร์ทมากมาย ที่เที่ยวปรับเปลี่ยนสภาพไปเยอะ ที่เยอะที่สุดน่าจะเป็นนักท่องเที่ยว เยอะก็คงไม่ใช่ปัญหาอะไร ถ้าทุกคนรู้จักรักษาสภาพที่เที่ยวให้คงไว้แบบที่เป็นอยู่ ไม่สร้างมลภาวะให้กับธรรมชาติ เช่นขยะ .... ธรรมชาติเหล่านั้นก็จะอยู่กับเรานานขึ้นหรือไม่ ก็อยู่ที่เรานี่แหละครับว่าจะให้วันข้างหน้าเป็นเช่นใด


เช้าวันนั้นที่ดอยอ่างขางหนาวมาก เราเปิดแอร์ที่รถ 24 องศา เหมือนกับว่าเราเปิดฮีตเตอร์ซะงั้น เส้นทาง 1249 กว้างแต่จะชันมาก ... แนะนำว่าให้เอาไว้เป็นขาลงดีกว่าเพราะใกล้ (น่าจะ 35 กม.) ใช้เกียร์ต่ำๆเข้าไว้ครับเพื่อให้เครื่องยนต์ช่วยฉุดรั้งรถไว้ให้เรา การใช้เบรคมากๆต้องระวังความร้อน เห็นหลายคันจอดเสียข้างทางเหมือนกัน ... เวลาเบรคมีความร้อนมากๆ เช่นควันขึ้น ต้องปล่อยให้ค่อยๆเย็นลงนะครับอย่าเอาน้ำไปสาดใส่ล้อ (เห็นหลายคนทำกัน) เดี๋ยวจานเบรคที่ทำด้วยเหล็กหล่อจะมีปัญหา ... ก็ขอให้ทุกคนที่วางแผนจะไปเที่ยวดอยอ่างขางจงมีความสุขในการท่องเที่ยวดอยนะครับ



ขอบคุณที่ติดตามอ่าน แล้วเจอกันใหม่ในบล๊อกหน้าครับ


ลาด้วยภาพเส้นทางที่ออกจากดอยอ่างขางภาพนี้ครับ


วันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ออกพรรษาที่เชียงคาน




วันนี้ผมมาเชียงคานถ้าจำไม่ผิดก็น่าจะเป็นครั้งที่สี่แล้ว คือมาที่นี่ตั้งแต่เชียงคานยังไม่ดัง ตอนนั้นผู้คนรู้จักเชียงคานก็เพียงแก่งคุดคู้ที่ขึ้นชื่อเรื่องกุ้งเต้น... จากวันนั้นถึงวันนี้ เชียงคานถ้าเปรียบเป็นหญิงสาว ก็เป็นหญิงสาวสวยที่กำลังโตเต็มที่ มีหนุ่มๆมากมายหลายคนมาจีบหรือมาชมความงามของเชียงคาน และเชียงคานเองก็กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดยั้งซะด้วย..

 
จุดที่แม่น้ำโขงไหลจากประเทศลาว มาพบกับลำน้ำเหืองตรงชายแดนไทย


มาเชียงคานคราวนี้ ตั้งใจว่าจะมาร่วมงานออกพรรษาที่นี่ ซึ่งจะว่าไปแล้วงานนี้ทางจังหวัดและทาง ททท.เลยเขาโปรโมทกลายเป็นงานระดับชาติไปอีกหนึ่งอีเวนท์แล้ว ผู้คนจึงหลั่งไหลมากันในช่วงนี้มากมาย ประกอบกับอากาศที่กำลังเย็นสบาย ไม่ร้อนมาก สถานที่พักบริเวณรอบๆถนนชายโขงจึงเต็มสนิทตั้งแต่ก่อนงานตั้งหลายวัน ... ภาพที่จะได้เห็นต่อไปนี้ เป็นเพียงส่วนน้อยของงานที่เกิดขึ้นที่เชียงคานในช่วงวันออกพรรษาครับ.



เราโทรจองที่พักในเชียงคานตอนที่เราเดินทางมาถึง อ. ชุมแพ จ.ขอนแก่น ได้ที่พักเป็นรีสอร์ทนอกเมืองไปตามถนนสาย เชียงคาน-ท่าลี่ ห่างจากตัวเชียงคานไม่ไกลนัก วันนี้เรามาถึงเชียงคานเอาตอนประมาณเที่ยงวันเลยต้องแวะเข้าไปคอนเฟิร์มที่พักก่อน เพราะเกรงว่าเจ้าของเขาจะขายห้องไปถ้าเราไม่ไปแสดงตัว






 สิ่งแรกที่เราอยากทำหลังจากได้ที่พักเรียบร้อยแล้ว คือ การไปไหว้พระใหญ่ ซึ่งห่างจากตัวเมืองเชียงคานไปทางท่าลี่ประมาณ 21 กม. เพราะมาที่นี่ทีไรมีอันจะต้องพลาดทุกครั้งไป...เส้นทางที่ไปพระใหญ่วันนี้ ขลุกขลักมาก เป็นหลุมเป็นบ่อตลอด บางช่วงเหมือนเป็นลูกรังด้วยซ้ำ (ไม่รู้เหมือนกันนะ เมืองท่องเที่ยวระดับนี้ ปล่อยไว้แบบนี้ได้ไง)


พระใหญ่สร้างอยู่บนยอดเขาที่ด้านล่างเป็นจุดบรรจบกันของลำน้ำเหืองกับแม่น้ำโขง ตรงจุดที่แม่น้ำโขงไหลมาจากประเทศลาวมาแบ่งขตไทย-ลาวตรงรอยต่อนั้นพอดี .... ได้คุยกับน้องคนหนึ่งที่เขาไปไหว้พระเหมือนกัน น้องเขาบอกว่า "พระใหญ่ปรางค์ห้ามญาติ องค์นี้สร้างโดยทหาร เพื่อเป็นจุดสังเกตุเวลาเครื่องบินบินลาดตระเวน ที่บ่อยครั้งจะเลยเข้าไปในประเทศเพื่อนบ้าน"



หลังจากที่ไหว้พระใหญ่เสร็จ ก็ฝ่าถนนโลกพระจันทร์ กลับมาที่ อ.เชียงคาน เพื่อเดินชมความเปลี่ยนแปลงบนถนนคนเดิน หรือ "ถนนชายโขง" ... เพราะวันนี้เป็นวันออกพรรษา 19 ต.ค. 2556 บนถนนจึงมีผู้คนมากมายที่มารอชมขบวนแห่ "ผาสาดลอยเคราะห์" รวมถึงการแข่งเรือที่แม่น้ำโขงด้วย ส่วนการแห่ผาสาดมีกำหนดการที่จะแห่ในช่วงค่ำประมาณ 17.00 น. อีกอย่างหนึ่งที่มีผู้คนมากมายคือ งานออกพรรษาที่เชียงคานเป็นงานโปรโมทระดับจังหวัดและระดับประเทศไปแล้ว

 
แข่งเรือในวันออกพรรษาที่เชียงคาน



จากถนนคนเดิน (ถนนชายโขง) เดินลงไปฝั่งน้ำโขงไม่ไกล






เชียงคานยามบ่าย



งานแห่ผาสาดลอยเคราะห์ เป็นสิ่งที่คนที่นี่ทำเป็นประเพณีต่อเนื่องกันมานาน ซึ่งแตกต่างจากที่อื่น 
เนื่องจากคนอีสานหรือคนในเชียงคานเชื่อว่า การที่บุคคลเจ็บป่วยและไม่สบายโดยไม่ทราบสาเหตุแม้จะไปหาหมอ ก็ไม่ทราบว่าเป็นอะไรกันแน่ เดี๋ยวเป็น เดี๋ยวหาย ก็เนื่องมาจากการกระทำของเจ้าที่หรือผีบ้านผีเมือง การลอยผาสาดจึงเป็นการลอยเอาสิ่งที่ไม่เป็นมงคลทิ้งไปกับกระทงที่เรียกว่า "ผาสาด"



ผาสาด เป็นกระทงสี่เหลี่ยม ที่ทำจากกาบกล้วยสด มีกรวยใบตองอยู่ตรงกลาง ประดับด้วยดอกไม้สีเหลืองหรือขี้ผึ้ง แต่งให้พองาม ใส่เครื่องบูชาคาวหวานลงไปในนั้น แล้วนำไปลอยในแม่น้ำโขง ส่วนขนาดของผาสาด มีทั้งขนาดเล็กเท่ากับกระทง และขนาดใหญ่กว้างยาวเป็นเมตร เวลาเขาแห่ผ่านไป ผู้คนจะเอาเงินไปใส่ในผาสาดนั้นเพื่อยเคราะห์ออกไปด้วย..

 




ขบวนแห่ผาสาด




การแห่ผาสาด จะมีเป็นขบวนโดยผู้ใหญ่ในชุมชน ประมาณว่าคุณป้าๆทั้งหลายนั้นแหละแต่งตัวด้วยผ้าสิ้นไหมและเบี่ยงผ้าเหมือนกับการแต่งตัวของชาวลาว ออกมาถือผาสาดร่วมขบวน ส่วนใครไม่ได้ถือก็จะรำไปตามถนน ซึ่งปีนี้ใช้ถนนชายโขงเป็นเส้นทางแห่ ... ขบวนแห่จะไปสิ้นสุดที่หน้าวัดท่าคก และทำการรำถวายพญานาคกันที่นั่น พอเวลาประมาณ 20 นาฬิกา ก็จะมีการลอยผาสาดและไหลเรือไฟกันที่แม่น้ำโขง
ของกินยอดฮิตที่ถนนคนเดิน
(บนซ้าย : กุ้งฝอยทอด บนขวา : ปาท้องโก๋ยัดใส้ ล่างซ้าย : หมูยอนึ่ง ล่างขวา : กุ้งน้ำโขง)
พักเหนื่อยไปนั่งทานกาแฟ เลยถ่ายเค็กนี้มาฝาก
ชื่อร้านน่ารัก
ตอนใกล้มืดมีคนออกมาเดินมากมาย



ที่ถนนคนเดินวันนี้มีคนเยอะมาก เพราะหลายๆคนอยากมีส่วนร่วมในการแห่ผาสาดลอยเคราะห์ ที่วันนี้เปลี่ยนเวลาการแห่เล็กน้อย คือเริ่มแห่เอาเกือบทุ่มแล้ว เลยทำให้ช่วงแห่นั้นถ่ายภาพได้ยากมาก

พอขบวนแห่ผ่านมาผู้คนก็นำเงินหยอดลงไปในกระทงหรือผาสาดอันใหญ่ที่แห่มาในขบวน ขบวนจัดเป็นตอนๆ โดยมีผู้ใหญ่ในพื้นที่ (ประมาณคุณน้าหรือคุณป้า) ในแต่ละตนนั้น จะมีการรำตามประเพณีชาวอีสาน รวมทั้รำวงแบบลาวที่เรียกว่า บาสะโลบด้วย.
สินค้า OTOP สวยๆ
เสร็จจากขบวนแห่ คณะก็ไปรวมกันที่ลานหน้าวัดท่าคก แล้วร่วมรำที่นั้นซึ่งเขาเรียกว่ารำถวายพญานาค ก่อนที่จะเริ่มนำผาสาดไปลอยในแม่น้ำโขง รวมทั้งการไหลเรือไฟด้วย ... เรือไฟที่นี้ประดับด้วยหลอดนีออน (เหมือนที่ใช้ในการโฆษณา) ใช้เครื่องปั่นไฟบนแพนั้น ผิดกับที่นครพนม ที่นั่นเขาใช้ตะเกียงน้ำมันจุดไฟเอา
ดนตรีเปิดหมวก
บนถนนคนเดินช่วงค่ำคึกคักมาก สินค้าพื้นเมืองมากมายเอามาวางขาย รวมทั้งของกินด้วย การเล่นดนตรีเปิดหมวก การวาดภาพ และการละเล่นหลายอย่างมีให้เห็นเหมือนถนนคนเดินทั่วไป

ดึกพอประมาณเราขับออกจากถนนศรีเชียงคาน (เราเอารถไปจอดไว้แถวๆปากซอย 13) กลับที่พัก ... ขณะเดินทางกลับก็ลำดับภาพที่เห็นที่เชียงคานในวันนี้ ซึ่งแน่หละจากสาวน้อยเชียงคานที่น่ารัก ก้าวขึ้มาทัดเทียมเมืองท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม อย่าง ปาย, วังเวียงในลาว, และซาปาในเวียดนาม ย่อมโดนวัฒนธรรมตะวันตกไหลบ่าเข้ามา จนเชียงคานวันนี้เป็นสาวใหญ่ที่ฉาบแก้มด้วยเครื่องสำอางค์และปรุงแต่งด้วยเคมีภัณฑ์ จนเหลือความเป็นตัวเองที่เคยได้รับการยกย่องถึงวัฒนธรรมอันดีงามน้อยเข้าไปทุกที

เชียงคาน เราอยากเห็นเธอยังคงเป็นเชียงคานเหมือนเมื่อเราแรกเจอกัน ถ้าจะแต่งแต้มด้วยสีแสงและวัตถุสมัยใหม่ ควรเลือกให้ออกไปอยู่ด้านนอกจากถนนชายโขง ยังไงๆก็ยังอยากเห็นที่แห่งนี้เป็นสาวสวยคนเดิมตลอดไป .....

"ฮักนะ เชียงคาน"
วัดท่าคก
ลาด้วยภาพ การไหลเรือไฟจากคุ้มต่างๆ