บล๊อกนี้จะพาท่านไปไหว้พระที่พระธาตุดอยตุง จังหวัดเชียงรายครับ วัดพระธาตุดอยตุงตั้งอยู่ไม่ไกลจากพระตำหนักดอยตุงมากนัก วัดพระธาตุดอยตุงเป็นที่เคารพสักการะของชาวเชียงรายและชาวไทยทั่วไป ..... วัดมีทางแยกออกจาพระตำหนักขึ้นไป โดยผ่านวัดน้อยดอยตุงด้วย ตามไปชมบรรยากาศกันเลยครับ
รถเช่าขึ้นพระธาตุจากพระตำหนักดอยตุง
เราขึ้นไปถึงที่จอดรถหน้าพระตำหนักตอนซัก 8 โมงกว่าๆ แต่รถก็จอดกันเต็มพรืดไปหมดแล้ว ใครจะเข้าไปใกล้ๆทางเข้าชมพระตำหนักก็ให้รถวิ่งเข้าไปส่ง และกลับออกมา
เราเลยตัดสินใจเช่ารถสองแถวที่เห็นในภาพ ขึ้นไปไหว้พระธาตุดอยตุงก่อน ส่วนราคาที่เช่าขึ้นไปแล้วแต่ตกลงกัน วันนั้นเราไป 2 คนค่าเช่า 600 บาทครับ
ทางขึ้นพระธาตุ
จากวัดน้อยดอยตุง...ต้องเดินทางต่อไปอีกขึ้นไปอีก 1 กม.
ช่วงที่ไปทางที่จะขึ้นต่อไปที่พระธาตุ ต้องเดินขึ้น 1 กม. เขายังไม่ให้รถใหญ่ขึ้นครับ เราเลยเช่ามอร์เตอร์ไซด์ขึ้นไป ก็สะดวกดีนะครับ ไม่หวาดเสียวข้างทางด้วย
ถึงเชิงบันไดวัด...จะเดินขึ้นทางนี้ก็ได้
ยักษ์เฝ้าบันได
พอไปถึงบันไดทางขึ้น เราจะเดินขึ้นทางบันไดเองก็ได้ แต่วันนั้นรถมอเตอร์ไซด์ไปส่งเราถึงที่...คนขับน่าจะเป็นชาวเขา เราก้ว่าเป็นการดีทำให้คนพื้นที่มีรายได้
บริเวณวัดพระธาตุดอยตุง
พระธาตุดอยตุง นับเป็นโบราณสถานอันเก่าแก่แห่งหนึ่งในภาคเหนือ ตามประวัติตำนานได้กล่าวไว้ว่า พระมหากัสสะปะเถระเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ได้อาราธนาอัญเชิญเอายังพระบรมสารีริกธาตุกระดูกไหปลาร้า (พระรากขวัญเบื้องซ้าย) ของพระพุทธเจ้า มามอบถวายแด่พระเจ้าอุชุตราชเจ้าผู้ครองนครนาคพันธ์โยนกชัยบุรี รัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์สิงหนวติ เป็นประธานพร้อมด้วยมุขมนตรีเสวกอำมาตย์ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินของพระองค์ ได้นำเอาพระบรมสารีริกธาตุขึ้นมาบรรจุสร้างขึ้น ณ ที่ดอยดินแดง (คือดอยตุงปัจจุบัน) สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.1454
ต่อมาอีก 100 ปี มีพระอรหันต์องค์หนึ่งชื่อว่า พระมหาวชิรโพธิเถร ได้นำเอาพระบรมสารีริกธาตุมามอบถวายให้พระเจ้ามังรายะนะธิราช แล้วจึงได้พร้อมใจกันนำเอาพระบรมธาตุขึ้นบรรจุสร้างใหม่ขึ้นมาอีกองค์หนึ่งบนดอยตุง พร้อมได้ปฏิสังขรณ์องค์เดิม จากนั้นมาก็ไม่ปรากฏหลักฐานรายนามผู้บูรณะปฏิสังขรณ์
องค์พระธาตุดอยตุง
บ่อศักดิ์สิทธิ์..ที่อยู่ข้างๆที่สักการะพระธาตุ
มุมกว้างจากทางเข้า
ลุถึง พ.ศ.2470 ครูบาศรีวิชัย นักบุญผู้ยิ่งใหญ่แห่งลำพูนพร้อมด้วยคณะศรัทธาชาวพุทธได้ทำการปฏิสังขรณ์องค์พระเจดีย์ พระวิหาร พระประธาน กาลเวลาผ่านพ้นมานานวิหารและพระประธานก็ถูกภัยธรรมชาติครอบงำชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ส่วนองค์พระเจดีย์นั้นยังมีรูปทรงปกติดีอยู่ ต่อมาประมาณปี พ.ศ.2499 ได้มีอุบาสิกาผู้หนึ่งอยู่ในจังหวัดพะเยา ชื่อว่า นางทองคำ ฮั้นตระกูล ได้มีกุศลเจตนาอันยิ่งใหญ่ ทำการลงรักปิดทองพระเจดีย์ทั้ง 2 องค์ ให้เหลืองอร่ามไปทั่ว
อีกมุมข้างโบสถ์
ในการบูรณะครั้งนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปทรงองค์พระเจดีย์กันใหม่ ออกแบบโดยอาจารย์ประกิต(จิตร์) บัวบุศน์ องค์พระเจดีย์บุด้วยกระเบื้องโมเสดสีทอง มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป 8 ซุ้ม มีฉัตรประดับทั้ง 4 มุมดังที่เห็นปรากฎวันนี้ ต่อมาประมาณปี พ.ศ.2525 ได้มีอุบาสกคนหนึ่งชื่อ ไศลยนต์ ศรีสมุทร์ เจ้าของและผู้จัดการตลาดแม่สาย ได้มีกุศลเจตนาอันแรงกล้า ได้ทำการเทลานพระธาตุและพร้อมกันนั้นทางวัดก็ได้ทำการก่อสร้างรั้วรอบบริเวณลานพระธาตุอีกโสดหนึ่ง
ตัวมอม ตรงทางขึ้นหอระฆัง...(ขอบคุณคุณตุ๊กที่ช่วยแชร์ครับ)
ตัวมอม
ลักษณะ : รูปร่างคล้ายราชสีห์ผสมมังกร ในทางศิลปะล้านนานั้นช่างปั้นบางครั้งก็ปั้นให้ดูคล้ายตุ๊กแก กิ้งก่า หรือค่าง ลักษณะของศิลปะนั้นได้รับอิทธิพลจากจีน ส่วนในศิลปะลาวและอีสานนั้น เชื่อว่า มอมเป็นสิงห์จำพวกหนึ่ง ช่างนิยมปั้นให้มีลักษณะคล้ายสิงห์ลำตัวยาวประดับราวบันได หรือปั้นคล้ายสุนัขขนาดใหญ่มีแผงคอและแผงหลัง และชาวอีสานถือว่ามอมเป็นสัตว์มงคลที่ปรากฏอยู่ในลายสักร่างกายของคนสมัยโบราณด้วย
ความเชื่อ : มอมเป็นสัตว์ที่มีฤทธิ์และอาคมเหนือมนุษย์แต่ไม่สามารถอยู่ในบรรลุได้ ทำให้ถูกสร้างเป็นปฏิมากรรมเฝ้าศาสนสถานเหมือนปฏิมากรรมอื่นๆ เพื่อสื่อให้เห็นความยึดติดที่ทำให้เพียงแต่อยู่ตามเทวสถาน ไม่สามารถบรรลุได้
ที่มา : วิกิพีเดีย
พระธาตุดอยตุง
คำไหว้พระธาตุดอยตุง : นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ....(สามจบ) พิมพา ธะชัคคะ ปัพพะเต นะจุฬาธาตุ จิรัง มะหาคะมา นะมามิหัง อะหังวันทามิ สัพพะทาฯ (สามจบ)
ตามทางลงมีระฆังแขวนไว้ตลอดแนว
วัดน้อยดอยตุง
หอระฆังวัดน้อย
ไหว้พระในโบสถ์
ตอนกลับลงมา เราแวะไหว้พระที่วัดน้อยดอยตุง ตรงที่เขาให้รถใหญ่ไปจอด....เมื่อก่อนที่ขึ้นมายังไม่เคยเห็นวัดนี้ น่าจะสร้างขึ้นมาเมื่อไม่นานมานี้ แต่ยังหาประวัติไม่เจอ
หลังจากไหว้พระและทำบุญแล้วเราเดินทางลงไปที่พระตำหนัก เพื่อเข้าเยี่ยมชมพระตำหนักและชมสวน หลังจากที่ไม่ได้มาที่นี่ไม่น้อยกว่า 3 ปี...เจอกันใหม่บล๊อกต่อไปครับ
💘💘ขอบคุณที่ตามอ่านครับ💘💘
ลาด้วยภาพหมู่บ้านชาวเขา..ถ่ายระหว่างทางจากพระาตุดอยตุง - วัดน้อยดอยตุง
----------------------