วันพฤหัสบดีที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2560

พระเจดีย์ประจำปีขาล..วัดพระธาตุช่อแฮ แพร่



เมืองแพร่ ... คิดถึงเมืองแพร่ทีไร คิดถึงไม้สักมากมายในสมัยโบราณ คิดถึงโรงเรียนป่าไม้เมืองแพร่แห่งแรกของไทย และที่อดคิดถึงไม่ได้คือร้านเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้ที่ อ.สูงเม่นและ อ.เด่นชัย ครับ .... แต่บล๊อกนี้จะไม่ได้พาท่านไปเที่ยวชมเรื่องพวกนั้น แต่จะพาท่านไปไหว้พระประจำปีเกิด ปีขาล ที่วัดพระธาตุช่อแฮครับ



ว่ากันว่า "บุคคลใดที่มาเที่ยวจังหวัดแพร่แล้วจะต้องมานมัสการพระธาตุช่อแฮ เพื่อเป็นศิริมงคลกับตนเอง จนมีคำกล่าวว่าถ้ามาเที่ยวจังหวัดแพร่ แต่ไม่ได้มานมัสการพระธาตุช่อแฮเหมือนไม่ได้มาจังหวัดแพร่" อันนี้น่าจะจริงครับ เราผ่านเมืองแพร่ทุกครั้งต้องแวะไหว้พระที่นี่ทุกครั้ง ถ้าไม่แวะเหมือนกับขาดอะไรซักอย่างที่อยากทำนั่นเอง

ทางขึ้นวัด

การเดินทางมาเที่ยววัดพระธาตุช่อแฮ ถนนสายหลัก คือ ถนนช่อแฮ เริ่มตั้งแต่สี่แยกบ้านทุ่ง อำเภอเมืองแพร่ ซึ่งเป็นสี่แยกใจกลางเมืองแพร่ เข้าสู่ถนนช่อแฮ และตรงไปตามถนนช่อแฮ ผ่านโรงพยาบาลแพร่ สนามบินจังหวัดแพร่ หมู่บ้านเหล่า หมู่บ้านนาจักร หมู่บ้านแต (กวีรัตน์) หมู่บ้านมุ้ง สถานที่ตั้งของวัดพระธาตุช่อแฮอยู่ในบริเวณเขตเทศบาลตำบลช่อแฮ ด้วยระยะทาง 9 กิโลเมตร จากตัวเมืองจังหวัดแพร่




วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง 

เป็นวัดที่ตั้งอยู่เนินเขาเตี้ยสูงประมาณ 28 เมตร องค์พระธาตุช่อแฮเป็นเจดีย์ศิลปะเชียงแสนแบบแปดเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง บุด้วยทองดอกบวบหรือทองจังโก องค์พระธาตุสูง 33 เมตร ฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 11 เมตร ลักษณะองค์พระธาตุตั้งอยู่บนฐานเขียงสี่เหลี่ยม 1 ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นฐานหน้ากระดานแปดเหลี่ยม 3 ชั้นรองรับ ถัดไปเป็นฐานบัวคว่ำและชุดท้องไม้แปดเหลี่ยม ซ้อนลดชั้นกันขึ้นไป 7 ชั้น จากนั้นเป็นบัวระฆัง 1 ชั้น และหน้ากระดานหนึ่งชั้น จนถึงองค์ระฆังแปดเหลี่ยม ถัดขึ้นไปเป็นบัลลังก์ย่อมุมไม้สิบสองและปล้องไฉน ส่วนยอดฉัตรประดับตกแต่งด้วยเครื่องบนแบบล้านนา มีรั้วเหล็กรอบองค์พระธาตุ 4 ทิศ มีประตูเข้าออก 4 ประตู แต่ละประตูได้สร้างซุ้มแบบปราสาทล้านนาไว้อย่างสวยงาม











องค์พระประธานในวิหาร

ระหว่างจุลศักราช๕๘๖-๕๘๘(พ.ศ.๑๘๗๙-๑๘๘๑)ในสมัยพระมหาธรรมราชา(ลิไท) ได้เสด็จมาบูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์แห่งนี้ จากนั้นได้จัดงานสักการะ ๗ วัน ๗ คืน จึงได้ชื่อว่า "พระธาตุช่อแฮ" (คำว่า "แฮ" เป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า "แพร" แปลว่า ผ้าแพร) และในปีพ.ศ.๒๔๖๗ ครูบาศรีวิชัย ได้มาเป็นประธานบูรณปฏิสังขรณ์อีกครั้งหนึ่ง

กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนองค์พระเจดีย์พระธาตุช่อแฮ เป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๒ ตอนที่ ๗๕ ลงวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๘ และได้ประกาศกำหนดขอบเขตโบราณสถาน เล่มที่ ๙๗ ตอนที่ ๑๕๙ ลงวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๓๒

พระประจำวันเกิดรอบๆกำแพงแก้ว


ตำนานพระธาตุช่อแฮในพระราชพงศาวดารว่าด้วยกรุงสุโขทัย

พระราชพงศาวดารว่าด้วยกรุงสุโขทัย หอสมุดแห่งชาติ กล่าวถึงวัดพระธาตุช่อแฮว่า สร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. 1879-1881 ในสมัยที่พระมหาธรรมราชา (ลิไท) ยังเป็นพระมหาอุปราชซึ่งครองเมืองศรีสัชนาลัยอยู่ในครั้งนั้น พระองค์โปรดให้สร้างสถานที่สำคัญทางศาสนาตามที่ปรากฏในพุทธประวัติในที่ต่าง ๆ รวมทั้งที่เมืองแพร่ซึ่งอยู่ในขอบขัณฑสีมาของกรุงสุโขทัย พระมหาธรรมราชาลิไทพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุแก่ขุนลัวะอ้ายก้อมให้นำมาบรรจุไว้ในฐานเจดีย์ เมื่อขุนลัวะอ้ายก้อมมาถึงบริเวณดอยโกสิยธชัคคะเห็นว่าทำเลดีจึงสร้างเจดีย์ขึ้น และนำผอบพระบรมสารีริกธาตุบรรจุไว้ในสิงห์ทองคำ สร้างแท่นที่ตั้งผอบด้วยเงินและทอง แล้วตั้งสิงห์ทองคำไว้โดยโบกปูนทับอีกชั้นหนึ่ง หลังจากนั้นก็จัดงานบำเพ็ญกุศลเฉลิมฉลอง 7 วัน 7 คืน ภายหลังเมืองแพร่ถูกรวมเข้ากับอาณาจักรล้านนาไทยกษัตริย์ล้านนาก็ทรงได้ทะนุบำรุงพระธาตุช่อแฮตามลำดับ จนกระทั่งราชวงศ์นี้หมดอำนาจลง พระธาตุช่อแฮก็ทรุดโทรมเป็นอันมากจนล่วงมาถึง พ.ศ. 2467 ครูบาศรีวิชัย (หรือตุ๊เจ้าวัดบ้านปาง จังหวัดลำพูน) ได้เป็นประธานบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุร่วมกับคณะสงฆ์จังหวัดแพร่ และมีพระมหาเมธังกร (พรหม พรหมเทโว) อดีตเจ้าคณะจังหวัดแพร่ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ในการบูรณปฏิสังขรณ์ จนทำให้พระธาตุช่อแฮกลับมามีความงดงาม และเป็นแหล่งเชิดหน้าชูตาของจังหวัดแพร่


ซุ้มประตูที่สวยงาม

วิวจากซุ้มประตูทางขึ้นวัด..ถนนด้านหน้าคือถนนช่อแฮ ตรงไปเมืองแพร่


จังหวัดแพร่ .... ได้จัดงานประเพณีนมัสการองค์พระธาตุช่อแฮ โดยยึดถือตามจันทรคติ ในระหว่างวันขึ้น ๙ ค่ำ - ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ใต้ เดือน ๖ เหนือ ของทุกปีโดยใช้ชื่องานว่า "งานประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮเมืองแพร่แห่ตุงหลวง"ด้วยความสำคัญดังกล่าวจังหวัดแพร่นำองค์พระธาตุช่อแฮ ประดิษฐานบนหลังม้าเป็นตราสัญลักษณ์ของจังหวัดและ นำมาเป็นคำขวัญประจำจังหวัดแพร่ ดังนี้   "หม้อห้อมไม้สัก ถิ่นรักพระลอ ช่อแฮศรีเมือง ลือเลื่องแพะเมืองผีคนแพร่นี้ใจงาม"


ลาด้วยภาพนี้ครับ


_______________





วันพฤหัสบดีที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ไหว้พระที่วัดพระธาตุแช่แห้ง น่าน



เดือนมีนาคม 2560 เป็นอีกปีที่เราได้มาไหว้องค์พระธาตุแช่แห้ง ที่จังหวัดน่าน ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3 ของเราแล้ว ... น่าน เป็นจังหวัดเล็กๆ แต่เมื่อเราได้เข้ามาสัมผัสที่นี่ยามใด ไม่ว่าจะเป็นหน้าหนาว ฝน หรือหน้าร้อน ก็ล้วนแล้วแต่ให้ความอบอุ่น น่าสัมผัส แตกต่างกันออกไป สมแล้วที่เมืองเล็กๆแห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งวัฒนธรรมที่ล้ำค่าของประเทศไทย .... บล๊อกนี้เราจะพาคุณๆไปกราบพระธาตุแช่แห้ง คู่บ้านคู่เมืองน่านด้วยกันครับ

หน้าวัด

พระธาตุแช่แห้งตั้งอยู่คนละฝั่งของแม่น้ำน่าน เพียงข้ามสะพานออกไปทางตะวันออกที่ อ.นาเพียง เพียง 3 กม. ตามถนน 4 เลนส์หมายเลข 1168 ที่สะดวกสะบาย เราก็จะพบองค์พระธาตุสีทองอร่ามยืนเด่นอยู่ด้านหน้าเราแล้ว

ประตูเข้าวัด

พอถึงหน้าวัดที่มีทางเดินขึ้นเนิน และเห็นรูปปั้นพญานาคสองข้าง แล้วเราสามารถขับเลยไปอีกหน่อยและเลี้ยวซ้ายขึ้นไปจอดรถด้านบนได้สำหรับรถเล็ก แต่ถ้าเป็นรถบัสเขาจะมีที่จอดตรงทางขึ้นด้านหน้าวัดครับ

องค์พระธาตุแช่แห้ง


เจดีย์วัดพระธาตุแช่แห้ง

พระธาตุแช่แห้ง ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน เป็นพระธาตุที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ตามประวัติสร้างเมื่อ พ.ศ. 1896 อายุราว 600 ปีเศษ องค์กระธาตุแช่แห้งเป็นพระธาตุที่มีขนาดสูงถึง 55.5 เมตร ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 22.5 เมตร มีสีเหลืองอร่ามเนื่องจากบุด้วยแผ่นทองเหลือง

พระธาตุนี้ตั้งอยู่บนยอดดอยภูเพียงแช่แห้ง ตำบลม่วงตึ๊ด อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน ลักษณะของเจดีย์ทรงระฆัง ส่วนฐานทำเป็นฐานหน้ากระดานสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ รองรับฐานบัวลูกแก้วย่อเก็จ ถัดขึ้นไปเป็นฐานหน้ากระดานสี่เหลี่ยมและแปดเหลี่ยม ซ้อนลดหลั่นกัน 3 ชั้น องค์ระฆังมีขนาดเล็กบัลลังก์ทำเป็นแท่นสี่เหลี่ยมย่อเก็จ ฐานหน้ากระดานกลมเป็นกระดานสี่เหลี่ยมและแปดเหลี่ยม และชั้นบัวคว่ำเหนือฐานแปดเหลี่ยมตกแต่งคล้ายกลีบบัว หรือลายใบไม้แทนลายดังกล่าวนี้คงได้รบอิทธิพลจากศิลปะพม่า ซึ่งนำมาต่อเติมขึ้นภายหลัง เมื่อล่วงเข้าพุทธศตวรรษที่ 24 แล้ว

พระธาตุแช่แห้งได้จัดงานประจำปีฉลองพระธาตุประจำปี ราวกลางเดือนหกฝ่ายเหนือ ซึ่งตรงกับเดือนสี่ฝ่ายใต้



วิหารหลวงหรือโบสถ์วัดพระธาตุแช่แห้ง



ตำนาน

จากพงศาวดารเมืองน่านกล่าวว่า พระยาการเมือง เจ้านครน่านได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากกรุงสุโขทัย มาประดิษฐานไว้ที่ดอยภูเพียงแช่แห้ง และตามตำนานกล่าวว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับสรงน้ำที่ริมฝั่ง แม่น้ำน่านทางทิศตะวันออก ที่บ้านห้วยไค้ และเสวยผลสมอแห้ง ซึ่งพระยามลราชนำมาถวาย แต่ผลสมอนั้นแห้งมาก พระพุทธเจ้าจึงทรงนำผลสมอนั้นไปแช่น้ำก่อนเสวย และทรงพยากรณ์ว่า ต่อไปที่นี่จะมีผู้นำพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐาน จึงเรียกพระสถูปที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุแห่งนี้ว่า พระธาตุแช่แห้ง








วิหารหลวง อยู่ทางด้านทิศใต้ขององค์พระธาตุเป็นวิหารขนาดใหญ่ 6 ห้อง ห้องกลาง มีขนาด 3 ห้อง และต่อชั้นลดออกไปทางด้านหน้า 2 ห้องและด้านหลัง 1 ห้อง ดังนั้นหากดูจากภายนอกจะมองเห็นเป็นอาคารขนาดใหญ่ หลังคาลาดต่ำลงมาเป็นชั้นซ้อนด้านละ 3 ชั้น และมีชั้นลดด้านหน้า 2 ชั้น ด้านหลัง 1 ชั้น มีประตูทางด้านหน้าและด้านข้างตรงกลาง



วิหารหลวง



ด้านในวิหาร

ศาลาหลวงพ่อทันใจทางด้านเหนือของเจดีย์

วิหารพระนอน

วิหารพระนอน

พระนอน


พระเจดีย์ชเวดากองอยู่ใกล้ๆที่จอดรถ


พระอาทิตย์กำลังอัสดงระหว่างโบสถ์และพระเจดีย์




ทางขึ้นวัด ที่สองข้างหล่อเป็นรูปพญานาค

พระธาตุแช่แห้งเป็นพระธาตุประจำปีเถาะครับ ด้านหน้าทางเข้าสู่พระธาตุเขาจะปั้นรูปกระต่ายไว้อยู่ .... ถ้าท่านมีโอกาสเดินทางมาทางจังหวัดน่า อย่าลืมหาโอกาสมากราบไหว้พระธาตุเพื่อเป็นศิริมงคลซักครั้งนะครับ.


💘💘ขอบคุณที่ตามอ่าน💘💘


ลาด้วยภาพพระธาตุแช่แห้งภาพนี้ครับ


_________________