วันจันทร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2559

พาเที่ยวบ้านรักไทย แม่ฮ่องสอน



ากาศเย็นๆแบบวันนี้ (7 กพ. 59) ชักคิดถึงวันที่ไปนอนพักที่บ้านรักไทย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งวันนั้นเป็นช่วงปลายปี 58 อากาศหนาวลดลงไปถึง 9 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว ... บล๊อกนี้เลยเอาบรรยากาศ "บ้านรักไทย" มาใหชมกันครับ


 
ยามบ่ายที่บ้านรักไทย



ทริปนี้เป็นทริปที่เราขับเที่ยวเหนือสุด โดยเดินทางเป็นวงกลมจากจอมทอง - ฮอด - แม่สะเรียง- แม่ฮ่องสอน - บ้านรักไทย - ปาย - และเชียงใหม่ นี้คือส่วนหนึ่งของแผนการเที่ยวในเส้นทางที่ว่า เราเคยเขียนเล่าเรื่องในการเดินทางมาที่แม่ฮ่องสอนไว้หลายบล๊อก หลายเวลาต่างกันซึ่งท่านสามารถเข้าไปอ่านได้ในบล๊อกนะครับ วันนี้จะเอาเฉพาะบรรยากาศที่บ้านรักไทยมาให้ชมกัน

อีกมุมริมอ่างเก็บน้ำ



เราออกจากแม่ฮ่องสอนในตอนเช้าหลังจากทานมื้อเช้าที่โรงแรมที่พักเสร็จ หลังจากนั้นก็ขับไปที่บ้านในสอย เพื่อไปเยี่ยมชมหมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาวที่นั่น หลังจากนั้นก็ใช้เส้นทางท่องเที่ยววงใน วิ่งต่อไปที่บ้านกุงไม้สัก เพื่อชมสะพาน "ซูตองเป้" (จะหาเวลานำมาให้ชมในบล๊อกครับ) ต่อไปที่ภูโคลน แล้วเดินทางเข้ามาที่บ้านรักไทย ถึงที่นั่นประมาณบ่าย 2


อาคารร้านค้าที่ทำด้วยดิน หรือ บ้านดิน



เส้นทางที่ไปบ้านรักไทย เป็นเส้นทางเดียวที่ไปโครงการพระราชดำริปางอุ๋ง แต่พอถึงหมู่บ้านบ้านนาป่าแปก เราขับตรงไปอีประมาณ 7 กม. มีขึ้นเขาบ้างแต่ไม่สูงมากนักเหมือนตอนแรกที่จะเข้าพระตำหนักปางตอง ขับสบายๆครับ

 
ถึงหมู่บ้านบรรยากาศก็เปลี่ยนไป นึกว่าเราหลงเข้าเขตเมืองจีนแถวๆยูนนานเสียแล้ว ตั้งแต่ป้ายทางเข้าหมู่บ้านเรื่อยไปจนถึงอ่างเก็บน้ำ "เขื่อนในหมอก" ซึ่งกลายมาเป็นทะเลสาบกลางหมู่บ้านรักไทย

หมู่บ้านรักไทยเกิดจากการอพยพเข้ามาของกองพล 93 ที่อบยพมาจากจีนตอนใต้เมื่อครั้งรบพ่ายแพ้กองทัพแดงของเหมา เจ๋อ ตุง และเข้าไปอยู่เมืองเชียงลับในพม่า ก่อนถูกปราบอย่างหนักจึงต้องเข้ามาอยู่ตามตะเข็บชายแดนไทยอย่างในปัจจุบัน ซึ่งบ้านรักไทยนี้ก็อยู่ห่างชายแดนเพียง 1 กม. เท่านั้น



"รู้ไว้ใช่ว่า"

กองพล 93 (ก๊กมินตั๋ง) เป็นกองทัพของรัฐบาลจีน ภาคใต้ของจอมพลเจียง ไค เช็ก ซึ่งเป็นตัวแทนของฝ่ายรัฐบาลจีนที่ส่งมารักษาชายแดนจีน-พม่า การต่อสู้ระหว่างรัฐบาลจีนกับกองทัพทหารพรรคคอมมิวนิสต์ของเหมา เจ๋อ ตุง ทำให้เจียง ไค เช็ก พ่ายแพ้และหนีไปอยู่ไต้หวัน กองพล 93 ก็เลยกลายเป็นทหารไร้สังกัด หนีการกวาดล้างของฝ่ายคอมมิวนิสต์ ก็มาตั้งหลักอยู่ที่เมืองเชียงลับ ในเขตประเทศพม่า โดยมีอาสาสมัครและครอบครัวลี้ภัยตามออกมาสมทบมากมาย จนได้จัดเป็นกองทัพได้ ๕ กองทัพ ภายใต้คำบัญชาการของนายพล หลี่ หมี

ปี 2504 รัฐบาลพม่าดำเนินการปราบปรามกองกำลังทหารจีนพลัดถิ่นเหล่านี้อย่างจริงจัง ทำให้กองกำลังของนายพลหลี่ หมี พ่ายแพ้ และกองทัพที่ 1, 2 และ 4 จำนวน 4,349 คน ได้ถูกส่งตัวไปไต้หวัน คงเหลือแต่กองทัพที่ 3 ของนายพลหลี่ เหวิน ฝาน และกองทัพที่ 5 ของนายพล ต้วน ซี เหวิน ที่ไม่ไม่ต้องการไปไต้หวันและได้นำกำลังอพยพหนีการกวาดล้างของพม่าเข้าสู่ภาคเหนือของประเทศไทย โดยไต้หวันประกาศจะไม่สนับสนุนช่วยเหลือกองกำลังที่ตกค้างเหล่านี้อีก ในที่สุด กองทัพที่ 3 ก็มาถึงอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และกองทัพที่ 5 มาปักหลักอยู่ที่ดอยแม่สลอง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย โดยจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ได้มอบหมายให้พลทหารเอกทวี จุลทรัพย์ และ พลโทเกรียงศักดิ์ ชนะนันทน์ เป็นผู้เจรจากับไต้หวันแต่ไม่สามารถตกลงกันได้ จนในปี 2513 อเมริกาก็ได้ตกลงเข้ามาช่วย รัฐบาลไทยจึงอนุญาตให้กองทหารจีนอยู่ได้ในฐานะผู้อพยพ เพื่อเป็นกองกำลังกันชนตามแนวชายแดน ป้องกันการแทรกซึมของ ผกค.และพลอากาศเอก ทวี ได้ตั้งชื่อหมู่บ้านแห่งนี้ว่าบ้านสันติคีรี หมายถึงหมู่บ้านในขุนเขาที่สงบสุข ในขณะที่คนจีนเรียกว่าเรียกดอยนี้ว่า เหมย ซือ เล่อ อันเป็นความหมายเดียวกันว่า ดินแดนที่มีความสุข

หลังจากนั้น กองกำลังทหารจีนของนายพลต้วน ซึ่งภายหลังได้ชื่อว่ากองทหารจีนคณะชาติก็ได้เป็นกำลังสำคัญร่วมต่อสู้ต่อต้าน ผกค. ในแถบจังหวัดเชียงรายหลายครั้ง โดยสามารถลดอิทธิพล ผกค.บนดอยหลวง ดอยยาว และดอยผาหม่นลงได้มาก รวมถึงสมรภูมิเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ อันเป็นภาระกิจสุดท้ายก่อนปลดอาวุธให้รัฐบาลไทย

จากหมู่บ้านกองกำลังทหารกลายมาเป็นหมู่บ้านการเกษตรคงไม่ง่ายนัก จากการดำรงชีวิตด้วยการรับจ้างลำเลียงฝิ่น การตั้งด่านภาษีเถื่อนและการค้าอาวุธสงครามก็ต้องยุติ แผ่นดินถูกพลิกฟื้น พืชพรรณไม้เมืองหนาวจากโครงการหลวง ชาพันธ์อัสสัม ชิงชิง และอูหลง ได้ส่งมาจากไต้หวัน ชาวบ้านก็มีความหวังใหม่และได้ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมา
(อ่านเพิ่มเติม)

วิวจากร้านลีไวน์รักไทย



รีสอร์ทที่ขึ้นชื่อที่สุดของที่นี่ก็มี ลีไวน์รักไทย รีสอร์ท http://www.leewinerukthai.com/
ต้าเหล่าซือรีสอร์ทรักไทย โทร 089 557 2258 และ 086 420 4382 ชาสารักไทย เป็นต้น..

เราเดินถ่ายภาพกันในไร่ชาที่ลีไวน์รักไทยรีสอร์ทและแวะซื้อไวน์ที่ร้าน ก่อนทานมื้อบ่ายกัน ซึ่งแน่ล่ะที่นี่ก็มีอาหารจีนยูนนานดังๆ เช่นหมั่นโถ ขาหมูยูนนาน ขาเห็ดทอด และช้อตเด็ดคือการชิมชาครับ ... ชาที่นี่เขาใส่แก้วชาซึ่งเป็นเซอรามิคเล็กๆ (ในภาพ) แล้วใส่น้ำชาเอาไว้ เวลาจะดื่มชาก็ค่อยๆยกแก้วเซอรามิคนั้นขึ้น น้ำชาก็จะเติมลงในถ้วย ยกจจนสุดก็ได้น้ำชาเต็มถ้วยชาพอดี
ทานเที่ยงกัน...ล่างซ้ายสุดคือยำใบชา



อีกย่างที่แนะนำให้ลอง ก็คือยำใบชาครับ รสชาติแปลกๆดี ส่วนใครชอบขาหมูยูนนาน ก็มีให้เลือกครับ ร้านที่คนชอบนั่งที่สุดและอยู่ติดอ่างเก็บน้ำคือร้านลีไวน์รักไทยครับ (ไม่ได้ค่าโปรโมตนะ) หรือชอบแบบเงียบๆ ก็ลองวนดูรอบๆอ่างเก็บน้ำได้นะครับ

 
ฝั่งตรงข้ามร้านลีไวน์ เป็นรีสอร์ทและเกสเฮ้าส์


เกสเฮ้าส์ริมอ่าง



สำหรับท่านที่ชอบที่พักราคาประหยัดก็นี่เลยครับเกสเฮ้าส์ มีให้เลือกหลายที่รอบๆอ่างเก็บน้ำขับถามไปเรื่อยๆ ราคามีตั้งแต่ 600 บาท - 1500 บาท ซึ่งแต่ละห้องก็เหมาะกับจำนวนผู้เข้าพักที่แตกต่างกัน เช่น 1500 บาทก็พักได้หลายคน.... ห้องพักเกสเฮ้าส์ส่วนมากจะไม่ติดแอร์แต่มีน้ำอุ่นให้อาบ คืนไหนไม่หนาวมาก ออกมานั่งถองเบียร์ริมอ่างฯบรรยากาศนี่น่าจะสุดๆครับ


 

บรรยากาศแถวๆร้านขายของที่ระลึกและร้านอาหาร


 

ลีไวน์รักไทยรีสอร์ท




ยามค่ำคืน



ในค่ำคืนที่เราไป (28/12/15) อากาศค่อนข้างหนาวเย็น ผู้คนเลยออกมาเดินเล่นกันไม่มากนัก เราเดินเก็บภาพไปชิมชาตามร้านไปไม่นานนักก็ต้องกลับที่พักเช่นกัน .... หัวรุ่งตื่นมาเอาของที่รถเจออุณหภูมิ 8 องศาเซลเซียส ก็นับว่าเย็นมากเช่นกัน แต่คนที่นั่นบอกว่าอุณหภูมิบางครั้งลงไปเป็น 0 (ศูนย์) องศาก็เคยบ่อยๆ

 
แสงยามเช้าที่ผ่านเหลี่ยมเขา



เช้าวันที่ 29 ธันวาคม 2558 เราตื่นเอา 7 โมงกว่าแล้วเพราะเย็นเหลือเกิน ตื่นขึ้นมาเห็นผิวน้ำเต็มไปด้วยไอหมอก สวยงามจริงๆ .... จำได้ว่าไม่เคยเห็นภาพแบบนั้นมานานมากๆแล้ว .... แสงไฟที่ยังเรื่อๆอยู่ตามอาคารริมอ่างฯ ทำให้ภาพที่เห็นนั้นสวยงามยิ่งขึ้นไปอีก

ที่บ้านรักไทยเหมาะกับการได้มาพักผ่อนเดินหรือปั่นจักรยานเล่นจริงๆ ไม่ไกลจากนี้ยังมีโครงการปางอุ๋งให้ไปเยี่ยมชมในยามเช้าอีกเช่นกัน

 



บรรยากาศริมอ่างเก็บน้ำยามเช้า



บ้านรักไทย ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลหมอกจำแป่ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นหมู่บ้านชาวจีนยูนนานอดีต ทหารจีนคณะชาติ (กองพล 93) “ก๊กมินตั๊ง” บ้านรักไทยอยู่สูงจากระดับน้ำทะเล กว่า 1,776 เมตร ทำให้พื้นที่ เหมาะสมอย่างยิ่งกับการปลูกชาพันธุ์ดี และพืชเมืองหนาว ทิวทัศน์ของ หมู่บ้านโอบล้อมไปด้วยทิวเขา แมกไม้ที่ อุดมสมบูรณ์ บ้านรักไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อในเรื่องของชาและขาหมู่หมั่นโถว คล้ายกับดอยแม่สลอง (กองพลเดียวกัน) นักท่องเที่ยวนิยมมาเที่ยวที่แห่งนี้เพื่อดื่มด่ำกับการชิมชา และ ทานขาหมูหมั่นโถว บ้างก็หลีกหนี ความวุ่นวายมาหาความเงียบสบาย ของบ้านรักไทยแห่งนี้ บ้านรักไทยยังมีกิจกรรมหลายอย่างไว้ให้นักท่องเที่ยว ได้สนุกสนาน เช่น การเดินป่าศึกษาเส้นทางโดยมัคคุเทศน์น้อย พาเข้าไปชม "คุกดิน" และการขี่ม้าพาข้ามแดนไป ฝั่งพม่า ที่บ้านรักไทยยังมีเกสเฮาส์ริมน้ำ (บ้านดิน) ไว้บริการนักท่องเที่ยวที่ต้องกับสัมผัสกับ ธรรมชาติแบบใกล้ ชิดอีกด้วย


 

รับลมหนาวยามเช้าตรู่



การเดินทางไปบ้านรักไทย

1.โดยรถส่วนตัว
ใช้เส้นทางแม่ฮ่องสอน - ปาย (1095) ออกจากตัวแม่ฮ่องสอนไปประมาณ 15 กม. จะมีทางแยกซ้ายมือมีป้าย บอกทางไปภูโคลนให้เลี้ยวซ้ายเข้าไป (เส้นทางเดียวกับภูโคลน) ระยะทางจากปากทาง - บ้านรักไทยประมาณ 29 กม. เมื่อเลี้ยวซ้ายเข้าไปแล้วก็ตรงไปเรื่อย ๆ เลยครับเส้นทางจะผ่านภูโคลน น้ำตกผ่าเสื่อ พระตำหนักปางตอง ทางจะเป็นทางขึ้นเข้าชันมีโค้งหักศอกพอสมควร (น้อง ๆ อ่างขาง) เส้นทางนี้จะเลยบ้านรวมไทยไปอีก 7 กม. ก็จะถึงบ้านรักไทย

2. รถโดยสารประจำทาง
จากตัวเมืองแม่ฮ่องสอน ขึ้นรถสองแถวสายแม่ฮ่องสอน - บ้านรักไทย (แม่ออ)ท่ารถอยู่ที่หลังตลาดสายหยุด

ลาด้วยภาพนี้ครับ



วันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

จากสุรินทร์ สู่เสียมเรียบ & โตนเลสาบ กัมพูชา (นครวัด-นครธม1)



ลับมาอัพบล๊อกอีกครั้ง...คราวนี้นำเอาสิ่งที่ไปเห็นมาในเขมรเมื่อครั้งที่เดินทางไปเสียมเรียบเพื่อชม มรดกโลกอันยิ่งใหญ่ หรืออีกนัยหนึ่งคือ "สิ่งมหัศจรรย์ 1 ใน 7 ของโลกยุคใหม่" มาให้ชมกัน ซึ่งจะเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจาก "นครวัด-นครธม"

เดินทางเข้าเขมรครั้งนี้ไปกับทัวร์ท้องถิ่นจากสุรินทร์ กรุ๊ปไม่ใหญ่มากยี่สิบกว่าคน กำลังพอดีกับรถบัสขนาดกลางครับ...การจองทัวร์ก็ทำผ่าน e-mail และ line ซึ่งก็สะดวกดี บริษัททัวร์ที่เราใช้บริการครั้งนี้คือ สะเร็นทัวร์ เป็นทัวร์ท้องถิ่นในสุรินทร์ โดยการเดินทางเราเริ่มจากสุรินทร์และสิ้นสุดที่สุรินทร์เช่นกัน กำหนดการของเราคือ 20-22 กุมภาพันธุ์ 2559 พักที่เสียมเรียบ 2 คืน


 
แผนที่การเดินทาง


เราออกจากขอนแก่นบ่ายๆกะเวลาเดินทางให้ถึงสุรินทร์ประมาณ 5-6 โมงเย็น เพื่อพักที่โรงแรมมณีโรจน์ที่เราโทรจองไว้แล้ว รอให้รถตู้จากบริษัทสะเร็นแทรเวลมารับในตอนเช้า ซึ่งก็ได้คุยกับน้องมิ๊นท์ที่จะเป็นทัวร์ลีดเดอร์ของเราในวันพรุ่งนี้ ( 20 กพ. 2559) การเดินทางมาสุรินทร์ของเราในครั้งนี้ก็เป็นแค่ครั้งที่ 2 เท่านั้นเอง แม้จะอยู่ในโซนอีสานด้วยกัน คราวก่อนที่มาก็เกิดจากการอยากจะไปชมปราสาทเขาพระวิหารและต่อด้วยหมู่บ้านช้าง เราจึงมีโอกาสผ่านสุรินทร์แบบไม่เห็นในเมืองเลย ... ฉะนั้นการมาครั้งนี้ GPS จึงเป็นที่พึ่งของเรา และก็ไม่ผิดหวัง (ผมใช้ GPS ของ Garmin แบบติดแยกต่างหาก ... ในรถก็มีแต่มีปัญหาเรื่องการรับสัญญาณไม่ค่อยดีครับ) โรงแรมราคาไม่แพงแต่ถือว่าห้องหับใช้ได้เลยนะครับ ถึงที่พักจัดการกับห้องเรียบร้อยแล้วลงมารับประทานอาหารเย็นกันที่ห้องอาหารของโรงแรมเลย.


ตื่นมาเอาของที่สำคัญในรถติดตัวไป เหลือรถฝากไว้ที่โรงแรมมณีโรจร์นั่นเลย (โดยคำแนะนำของสะเร็นแทรเวล) เราออกจากสุรินทร์ 6.30 น. เพื่อให้เข้าด่านประมาณ 8.00 น. จะได้สะดวกในการข้ามด่าน และมีเวลาพักทานข้าวก่อนจะข้ามด่าน จากสุรินทร์ไปด่านช่องจอม อ.กาบเชิง ระยะทางประมาณ 75 กม. รถตู้ต้องใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง แต่ก่อนที่จะเข้าด่านทางทัวร์เขามีเลี้ยงอาหารเช้าที่ร้านข้างทาง ถ้าจำไม่ผิดน่าจะชื่อร้านคนสกล อะไรประมาณนั้น อากหารก็มีข้าวต้ม ก๋วยเตี๋ยว กาแฟ ซึ่งก็ถือว่าโอเคนะ กินไปคิดไปและภาวนาว่าในกัมพูชาขอให้อาหารได้เท่านี้เถิด.

ทานมื้อเช้ากันก่อนเข้าช่องจอม

เสร็จจากมื้อเช้าเราเข้าด่านผ่านวิธีการตรวจตรา ซึ่งก็ได้รับความสะดวกมาก (ทัวร์เขาดำเนินการให้) ข้ามด่านไปได้ก้ไปรอรถบัสจะมารับ ระหว่างรอก็สามารถไปใช้ห้องน้ำใน Casino ที่ O-Smach resort ได้

ผ่านด่านฝั่งไทย


เวลารถมาส่งนักท่องเที่ยวที่ฝั่งไทยจะจอดใกล้ๆกับ ตม. แล้วจะให้เราเดินผ่านช่องไปตรวจตรา passport หรือใบผ่านทาง ส่วนกลุ่มเราทางไกด์ทัวร์จัดการให้ เพียงให้เราเดินตามเข้าช่องไป กระเป๋าสัมภาระเขาจะจ้างชาวเขมรขน โดยใช้รถเข็นข้ามแดนไป เราเพียงไปรอรับฝั่งเขมรเท่านั้น .... ด่านช่องจอมคนจะเยอะมาก เพราะที่ O-Smach Resort จะมีบ่อน Casino ด้วย ฉะนั้นจึงมีทั้งคนที่เข้าไปเที่ยวและเล่นการพนัน

ที่ด่านช่องจอม ฝั่งกัมพูชา


ช่องจอม เป็นเส้นทางข้ามแดนที่ใหญ่และสะดวกที่สุดของจังหวัดสุรินทร์ที่จะไปยังกัมพูชา ทำให้มีการติดต่อสัญจรไปมา และซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างชาวไทยและชาวกัมพูชามาเป็นเวลาช้านาน เป็นที่มาของแนวความคิด ในการเปิดจุดผ่านแดนเพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งสองประเทศ

สินค้าที่วางจำหน่ายเน้นเป็นสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะช่วงเช้าสินค้าเกษตรมักขายดีเป็นอย่างมาก ส่วนมากเป็นพ่อค้าแม่ค้าชาวกัมพูชานำเข้ามาขาย โดยเฉพาะแมงดา ต่างพากันเลือกซื้อนำมาปรุงเป็นอาหาร และสินค้าที่ประดิษฐ์จากไม้เช่น ม้านั่ง เสื่อสานจากไม้ไผ่ ตะกร้าสานจากไม้ไผ่ ปัจจุบันชาวกัมพูชาก็ยังคงข้ามแดนเข้ามาซื้อสินค้า อุปโภคบริโภคในตลาดฝั่งไทยอย่างคึกคักเช่นเดิม และมีนักเสี่ยงโชคชาวไทยที่หลั่งไหลข้ามแดนไปเสี่ยงโชคในบ่อนกาสิโนทั้ง 2 แห่ง ในฝั่งกัมพูชาอย่างคึกคักมากกว่าวันปกตินับพันคน

ปัจจุบันจุดผ่านแดนถาวรช่องจอม หลังจากมีมติคณะรัฐมนตรีให้ขยายเวลาเปิด - ปิดด่าน โดยเปิดตั้งแต่เวลา 06.00 - 22.00 น


O-Smach ฝั่งกัมพูชา


ได้เวลารถบัสติดแอร์ยี่ห้อฮุนไดสายพันธุ์เกาหลีก็เคลื่อนเข้ามารับเราที่หน้า O-Smach Resort เราจัดแจงกับที่นั่ง ซึ่งอย่าลืมว่ารถที่กัมพูชาเขาวิ่งชิดขวา พวงมาลัยซ้ายนะครับ (ผมจะเขียนกลับไปกลับมาระหว่างคำว่าเขมร กับกัมพูชา ก็อย่ากระไรเลยนะครับ ...คำว่าเขมรผมถามไกด์แล้ว เขาก็ไม่ได้ว่าอะไร ไม่ได้เป็นคำเรียกที่ไม่ดีครับ) ฉะนั้นถ้าอยากจะใกล้ชิดกับริมทางก็เลือกฝั่งขวาละกัน

รถออกจากด่านชายแดนไทยก็วิ่งลงเขาไปเรื่อยๆจนถึงพื้นราบ คุณไกด์สาครเราก็อธิบายเรื่องราวเกี่ยวกับสงครามในกัมพูชาให้เราฟัง จนมาถึงยุคที่ทางการกัมพูชาขอให้ทหารเวียตนามเข้ามาช่วยปราบเขมรแดงพอลพต (ยุคพอลพต (Pol Pot) เป็นยุคที่เขมรแดงฆ่าล้างเผ่าพันธุ์พวกผู้ดีมีการศึกษาในเขมร ซึ่งมีคนตายมากมายกว่า 3-4 ล้านคน) ... รายละเอียตคงหาอ่านได้ไม่ยากนะครับ


สาคร ไกด์ชาวเขมร

จากด่านช่องจอมไปที่สามแยก Kralanh ระยะทางประมาณ 119 กม. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1.5 ชั่วโมง เป็นถนนแบบเลนเดียววิ่งสวนทางกันไปมามาตรฐานเดียวกับถนนเชื่อมจังหวัดบ้านเรา ถนนช่วงแรกๆสองข้างทางจะมีชาวบ้านนำมันสำปะหลังที่ฝานเป็นชิ้นๆมาตากแห้งบนไหล่ถนน รภมาก็หลีกเอาเอง ... เกษตรกรแถวนี้เขานิยมปลูกมันสำปะหลังกันมาก ส่วนเวลาผลผลิตออกจะมีรถจากฝั่งไทยมารับซื้อกลับไปแปรรูบ โรงงานแปรรูบฝั่งกัมพูชายังไม่มี ฉะนั้นราคาจึงขึ้นอยู่กับพ่อค้าฝั่งไทยล้วนๆ

พอรถลงถึงพื้นราบ (ซึ่งก็ต่ำกว่าฝั่งไทยมาก) จะเห็นพื้นนาไกลสุดลูกหูลูกตา มีต้นไม้ขึ้นอยู่เพียงน้อยนิด (เหมือนบ้านเรา) บ้านเรือนผู้คนอยู่กันเป็นหมู่บ้าน มีวัดวาอารามเหมือนบ้านเรา ซึ่งครั้งหนึ่งวัดถูกปิดและทำลายไปตามอุดมการณ์ของคอมมิวนิสต์ยุคพอนพต แต่ตอนนี้ฟื้นฟูขึ้นมาใหม่เพราะคนส่วนใหญ่ของกัมพูชานับถือพุทธเหมือนไทย


พื้นที่ส่วนมากเป็นที่ราบ บ้านเรือนทั่วไปยกเสาสูง


รถมาพักให้เราเข้าห้องน้ำกันที่สามแยก Kralanh เป็นชุมทางที่จะไปปอยเปตทางตะวันตก ระยะทางประมาณ 99 กม. ไปเสียมเรียบทางตะวันออก ระยะทาง 106 กม. และขึ้นเหนือไปที่ด่านช่องจอม ระยะทาง 119 กม. ... มีร้านขายอาหารและขนมขบเคี้ยว แบบตามชนบทบ้านเรา ผู้คนที่สัญจรไปมาก็มากับรถปิกอัพเสียส่วนใหญ่ นานๆรถประจำทางและแท๊กซี่ป้ายดำจะผ่านเข้ามา ห้องน้ำที่เขาพาเราไปเข้าก็พอได้ครับ ไม่ถึงกับดีมากนัก สงสารก็แต่ผู้หญิงต้องต่อคิวกันนานหน่อย

สามแยก Kralanh และของที่วางขายตามที่จอดรถ


พอทุกคนเรียบร้อย รถบัสขนาด 28 ที่นั่งก็พาเราเดินทางต่อไปทางตะวันออกเฉียงใต้สู่เมืองเสียมเรียบ ... ถนนช่วงนี้ยกสูง นัยว่าเมื่อหน้ามรสุม น้ำหลาก น้ำจากทะเลสาบจะท่วมถึงบริเวณนี้ครับ

อีกอย่างตามข้างทางช่วงนี้จะเห็นชาวบ้านเขาเอาแผ่นพลาสติกใสมาขึงเหมือนจอหนังกลางแปลงเรียงรายกันไปตามทุ่งนาข้างๆถนน ถามไถ่ไกด์ก้ได้ความว่า เขาทำที่ล่อแมลง โดยใช้แสงไฟนีออนล่อให้แมลงให้บินมาชนแผ่นพลาสติกนั้นแล้วหล่นลงในภาชนะรองรับ ซึ่งเป็นถังใส่น้ำ พอถึงเวลาเขาก็จะเก็บเอาไปแยกและทอดขายให้เราไง...ภูมิปัญญาชาวบ้านเขาน่ะ





รถพาเรามาถึงเมืองเสียมเรียบ หรือเสียมราฐของเราในครั้งก่อน จากนั้นก็พาเราไปที่ร้านอาหารโตนเลสาบ ซึ่งเป็นร้านอาหารแบบบัฟเฟ่ท์นานาชาติ มีอาหาร ไทย จีน เวียตนาม ฝรั่ง อิสลาม รวมถึงอาหารอีสานพวกส้มตำ-ไก่ย่างด้วย อาหารที่นี่หน้าตาเหมือนบ้านเรา แต่รสชาตจะออกหวานๆหน่อย ไม่เผ็ดเหมือนบ้านเรา แต่็โอเคนะผมว่า สะอาด ได้มาตรฐานเลยล่ะ

 

ร้านอาหารโตนเลสาบ



เสียมเรียบ

เป็นจังหวัดหนึ่งในประเทศกัมพูชา ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ อยู่ริมฝั่งทะเลสาบเขมร ห่างจากกรุงพนมเปญ 314 กิโลเมตร โดยใช้เวลาเดินทางด้วยรถยนต์ประมาณ 5 ชั่วโมง มีพื้นที่ 10,299 ตารางกิโลเมตร ประชากรทั้งสิ้น 896,309 คน

เสียมเรียบ หรือ เสียมราฐ เป็นที่ตั้งของนครวัด และกลุ่มปราสาทหินหลายแห่ง อาทิ หมู่ปราสาทหินจากอาณาจักรขอม ได้แก่ ปราสาทนครวัด, กลุ่มปราสาทนครธม, (ตาพรหม และบายน, บันทายศรี, บากอง, โลเลย, พนมบาเค็ง, พนมกุเลน และ บารายตะวันตก

เมืองเอกของจังหวัดนี้ (เทียบได้กับอำเภอเมืองในจังหวัดของไทย) ก็มีชื่อว่า เสียมราฐ เช่นกัน โดยเมืองเสียมเรียบนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดของประเทศกัมพูชา แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวไปเยี่ยมชมนครวัดประมาณ 1,600,000 คน


รถตุ๊กๆเสียมเรียบ


คำว่า เสียมเรียบ ในภาษาเขมรมีหมายความว่า "สยามราบ" คือ "สยาม (แพ้) ราบเรียบ" ส่วน เสียมราฐ ในภาษาไทยนั้น หมายถึง "ดินแดนของสยาม"

บ้างว่า เสียมราบ มาจากสงครามที่เกิดขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราช (เจ้าพญาจันทราชา) ซึ่งเป็นการศึกระหว่างกัมพูชากับสยามในปี พ.ศ. 2089 ซึ่งปรากฏในพงศาวดารเขมร จ.ศ. 1217 เพียงฉบับเดียวเท่านั้นความว่า

"...พระองค์ทรงราชย์ ลุศักราช ๑๔๖๒ (จ.ศ. ๙๐๒) ศกชวดนักษัตรได้ ๒๕ ปี พระชันษาได้ ๕๕ ปี พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา จึ่งยกทัพมาถึงพระนครหลวง ในปีชวดนั้น พระองค์ยกทัพไปถึงพระนครหลวงรบชนะพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาหนีไป พระเจ้าจันทร์ราชาจับได้เชลยไทยเป็นอันมากแล้วเสด็จกลับเข้ามาครองราชสมบัติ..."

จึงสันนิษฐานว่าสงครามครั้งนี้น่าจะเป็นที่มาของชื่อ "เสียมราบ" เนื่องจากเป็นการรบครั้งสำคัญครั้งสุดท้ายที่รบใกล้เมืองพระนคร เพราะหลังจากนี้เส้นทางการเดินทัพและสมรภูมิจะเปลี่ยนไปเป็นเส้นทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบ คือ แถบเมืองพระตะบอง, โพธิสัตว์, บริบูรณ์ และละแวก เป็นต้นแต่อย่างไรก็ตามการสงครามครั้งนี้ไม่มีการกล่าวถึงในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาแต่อย่างใด

บ้างก็ว่าชื่อ "เสียมเรียบ" ตั้งขึ้นใหม่แทน "เสียมราฐ" หลังจากที่ใน กรณีพิพาทอินโดจีน พันตรีแปลก พิบูลสงคราม ผู้บัญชาการกองทัพอีสานและบูรพาในขณะนั้น ได้เคยบุกข้ามชายเดนขับไล่ฝรั่งเศสออกจากดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง พระตะบอง และเสียมราฐ แต่แพ้
ที่มา : วิกิพีเดีย


เมืองเสียมเรียบ ณ ปัจจุบันกำลังได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว มีที่พักมากมายกว่า 600 แห่ง (รวมทั้งเกทส์เฮ้าส์ด้วย) โรงแรมมีตั้งแต่ราคาไม่กี่ดอลล่าร์ไปจนถึงระดับ 5 ดาว ท่านสามารถเข้าไปดูได้ตามเวบไซต์ต่างๆ .... สภาพเมืองที่เห็นก็คล้ายๆบ้านเราเหมื่อหลายสิบปีที่แล้วครับ





หลังอาหารเที่ยง (ซึ่งถือว่าใช้ได้..ผิดคาด) เราก็เดินทางไปลงเรือเพื่อไปชมวิถีชีวิตของชาวเรือนแพ หรือบ้านกลางน้ำ .... ตอนแรกเกือบจะไม่ได้ไปเสียแล้ว เพราะข่าวว่าน้ำในคลองที่จะเดินเรือออกสู่โตนเลสาบนั้นมีน้อย เหลือร่องน้ำนิดเดียว แถมสองฟากคลองก็เป็นบ้านเรือนชาวประมงทำปลาร้าส่งขาย ส่งกลิ่นมากเป็นพิเศษ เขาว่าจะพาเราไปชมศูนย์วัฒนธรรมแทน แต่เราโวตเสียงชนะเลยได้ไป (แหม 1 ในหลายสถานที่ของเสียมเรียบก็คือ นี่แหละ หมู่บ้านกลางน้ำ)

รถวิ่งออกจากเมืองไปทางทะเลสาบประมาณ 13 กม. ผ่านหมู่บ้านที่ทำปลาร้าขาย ส่วนใหญ่เขาบอกว่าส่งมาขายที่ประเทศไทยนี่แหละครับ จากหมู่บ้านเข้าสู่ถนนลูกรังเป็นเหมือนคูน้ำยกสูงเป็นพิเศษกันน้ำท่วม แต่ถ้าหน้าน้ำจริงก็ท่วมอยู่ดี ถนนเส้นนี้เขาเลยไม่ลาดยางเพราะเดี๋ยวน้ำท่วมมาก็เสียอยู่ดี .... ข้างๆถนนเป็นร้านอาหาร เหมือนสถานที่ใกล้แม่น้ำทั่วไป แต่ที่แปลกกว่าคือมีเปลแขวนไว้มากมาย ไกด์บอกเราว่าหลังทานอาหารเขาจะนอนพักพักรับลมกันเลยล่ะ


เรือแล่นไปตามคลองสู่ทะเลสาบ


มาถึงท่าเทียบเรือ ซึ่งเขาขุดเป็นสระน้ำขนาดใหญ่ไว้ มีเรือประมงจอดเต็มไปหมด และเรือเหล่านั้นบ้างก็รอคิวรับส่งผู้โดยสารออกไปโตนเลสาบ จาการสอบถามคนแถวนั้นว่า

"ถ้ามาเที่ยวและเดินทางคนเดียว เขาคิดค่าเรือเท่าไหร่?"
"10" ดอล่าร์สหรัฐครับ"


เมื่อคณะเราขึ้นเรือเสร็จ สาระถีก็พาเรือประมงเก่าๆออกแล่นไปตามลองขุดที่มีน้ำขุ่นขลัก สีกาแฟ พอเรือจะสวนกันก็เบาเครื่อง เพราะวันที่ไปน้ำในทะเลสาบเหลือน้อย ส่งผลถึงคลองเดินเรือนั้นด้วย ไกด์บอกว่าถ้าหน้าน้ำหลากน้ำจะขึ้นสูงมาก พลางชี้ให้ดูระดับน้ที่ท่วมถึงบนเสาไฟฟ้าซึ่งอยู่เหนือระดับพื้นดินร่วมสิบเมตร

 
ขณะพัก..แขวนเปลนอนซะเลย


เมื่อเรือแล่นผ่านกัน (อย่างใกล้ชิด) นักท่องเที่ยวก็จะโบกมือทักทายกัน รวมทั้งถ่ายภาพเรือขณะแล่นบนพื้นน้ำอันขุ่นขลักนั้นด้วย..เพลิดเพลินและสนุกสนานพอควร

 
โรงเรียนกลางน้ำ



โตนเลสาบ (Tonle Sap) หรือ ทะเลสาบเขมร

คำว่า “โตนเล” ในภาษาเขมร หมายถึง แม่น้ำ สาบ หมายถึง จืด ทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียแห่งนี้ ตั้งอยู่บริเวณตอนกลางค่อนไปทางตะวันตกเฉียงเหนือของกัมพูชา ล้อมรอบด้วยพื้นที่จังหวัดเสียมเรียบพระตะบอง โพธิสัต กัมปงชนัง กัมปงธม

มีพื้นที่ประมาณ 2700 ตารางกิโลเมตรในยามปกติ แต่ถ้าในช่วงที่มีน้ำมากพื้นที่ของทะเลสาบจะกว้างใหญ่ถึง 16000 ตารางกิโลเมตร เมื่อเทียบกับบึงบอระเพ็ด ในจังหวัดนครสวรรค์ ทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ มีพื้นทีเพียง 212 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น อาณาบริเวณของโตนเลสาป ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ กำปงธม กำปงซะนัง โพธิสัตว์ พระตะบอง และเสียมเรียบ ส่วนกลางทะเลสาบจะลึกประมาณ 5-6 เมตร แต่ถ้าหากเป็นฤดูน้ำหลากก็จะเพิ่มสูงอีกราว 5-6 เมตร มีส่วนที่ลึกที่สุดของแม่น้ำคือ 15 เมตร ส่วน ที่ตื้นที่สุด 5 เมตร หรือมีความลึกเฉลี่ยเพียง 10 เมตร เท่านั้น

ที่ปลายทะเลสาบด้านตะวันออกเฉียงใต้ทางด้านจังหวัดกัมปงชนัง แม่น้ำโตนเลสาบ (Tonle Sap River) ซึ่งไหลเชื่อมโยงกับแม่น้ำโขงและแม่น้ำบาสัก (Basac River) ห่างออกไปถึง 100 กิโลเมตร ที่กรุงพนมเปญ เกิดเป็นจุด จัตุรมุข ที่แม่น้ำ 3 สายได้มาบรรจบกัน คือ แม่น้ำโตนเลสาป แม่น้ำบาสัก และแม่น้ำโขง ที่บริเวณนี้กระแสน้ำของแม่น้ำโตนเลสาบจะสลับทิศทางการไหลตามฤดูกาล หรือที่เรียกว่า River with Return

ในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงพฤศจิกายน น้ำในแม่น้ำโขงไหลหลากมาจากทางเหนือเป็นจำนวนมาก จนหนุนน้ำในแม่น้ำให้กลับทิศทางการไหลย้อนกลับขึ้นไปที่โตนเลสาบทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ พร้อมทั้งพัดพาตะกอนและแร่ธาตุต่าง ๆ มาทับถมบริเวณโดยรอบทะเลสาบจนทำให้ในช่วงนี้เกิดพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก และปริมาณน้ำก็เอ่อล้นแผ่ขยายวงกว้างราว 4-5 เท่า ตามปริมาณน้ำที่ไหลบ่ามาจนมีอิทธิพลถึงพื้นที่ลุ่มน้ำโตนเลสาบในประเทศไทย โดยในระยะที่ระดับน้ำในโตนเลสาบนิ่งนั้นจะนิ่งสงบใส เหมาะแก่การเที่ยวชมความงามของผืนน้ำ และจะค่อยๆลดลงในฤดูแล้งราวเดือนธันวาคม-เมษายน ทิศทางการไหลของแม่น้ำโตนเลสาปก็จะกลับทิศทางกลับลงมาทางตะวันออกเฉียงใต้สู่แม่น้ำโขงและแม่น้ำบาสัก ตามกระแสน้ำในแม่น้ำโขงจากทางเหนือที่ลดลง คราวนี้ตะกอนดินอันอุดมสมบูรณ์ก็จะถูกนำไปทับถมในบริเวณที่มีการเพาะปลูกอีกด้านหนึ่ง


  
สถานีตำรวจกลางน้ำ



โตนเลสาบ เป็นเสมือนแก้มลิง คอยเก็บกักน้ำจากแม่น้ำหลายสายในช่วงฤดูน้ำหลาก ราวกับเป็นปราการที่ธรรมชาติสร้างไว้ป้องกันน้ำท่วมในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตอนใต้ แม่น้ำหลายสายที่ได้ไหลมารวมกันเป็นทะเลสาบน้ำจืดแห่งนี้ มีปริมาณน้ำเฉลี่ยรายปี 6,266.20 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยประมาณร้อยละ 60 เป็นน้ำที่ไหลมาจากแม่น้ำโขง ที่มีจุดเริ่มต้น จากเทือกเขาหิมาลัย จนไหลลงสู่ทะเลจีนใต้มีความยาวทั้งหมด 4,880 กิโลเมตร โดยช่วงที่ไหลผ่านกัมพูชามีระยะทางเกือบ 500 กิโลเมตร ก่อนที่จะไหลต่อไปยังเวียดนามลงสู่ทะเลจีนใต้

นอกจากจะเป็น “อู่ข้าว อู่น้ำ”ของชาวเขมรแล้ว ด้วยความกว้างใหญ่ครอบครองพื้นที่หลายจังหวัดของประเทศ โตนเลสาบจึงถือเป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่สำคัญ

ความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญต่อระบบนิเวศน์

โตนเลสาป เป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ได้รับการยกย่องว่ามีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติอย่างสูง เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกมีพันธุ์ปลามากถึงกว่า 300 ชนิด สาเหตุที่ทำให้ปลาชุกชุมมาจากการไหลของกระแสน้ำที่มีลักษณะเฉพาะ และระบบนิเวศน์ที่มีความอุดมสมบูรณ์ สามมารถพบปลาน้ำจืดสายพันธ์ที่หายาก โดยเฉพาะปลาบึก [Gian Cat Fish] ซึ่งเป็นพันธุ์ปลาซึ่งเป็นปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่มีถิ่นอาศัยเพียงแห่งเดียวในโลกคือในแม่น้ำโขง จะอาศัยทะเลสาบโตนเลเป็นที่วางไข่ แล้วว่ายทวนน้ำจากโตนเลสาบขึ้นสู่ประเทศไทย-ลาว ก่อนไปผสมพันธุ์ที่จีนซึ่งเป็นต้นแม่น้ำโขง

ทรัพยากรธรรมชาติประเภทอื่นๆ ในโตนเลสาบ ยังมีทั้งพืชพรรณต่าง ๆกว่า 200 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกว่า 46 สายพันธุ์ รวมทั้งสัตว์ปีกอย่างนกอีกกว่า 225 สายพันธุ์ สัตว์บางชนิดที่พบเห็นได้เฉพาะบริเวณโตนเลสาบเท่านั้น และยังมีจำนวนไม่น้อยที่เป็นสัตว์ปีกอนุรักษ์ของโลก

ที่มา : วิชาการ.คอม



บ้านเรือนแพกลางน้ำมีทั้งหมู่บ้านชาวกัมพูชา และเวียตนามที่แยกอยู่เป็นกลุ่ม



วิถีชีวิตชาวเวียตนามบนเรือแพ


บ้านกลางน้ำในทะเลสาบเขมรนี้มีอยู่ 2 ชุมชนใหญ่ๆคือชุมชนชาวเวียตนาม ที่อพยบเข้ามาเมื่อครั้งทหารเวียตเข้ามาช่วยเขมรรบกับเขมรแดงของพอลพต และไม่ยอมกลับออกไปซึ่งต่อมาก็ทำการประมงและอาศัยอยู่บนเรือในโตนเลสาบนี้ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 2000 คน ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งคือชุมชนกลางน้ำเชื้อสายเขมรเอง

ชุมชนเหล่านนี้จะย้ายไปตามน้ำเรื่อยๆ คือถ้าน้ำหลากเขาก็จะลากเรือแพเข้าไปอยู่บริเวณไม่ห่างจากฝั่งมากนัก ถ้าหน้าน้ำลงก็จะลากลงไปตามน้ำด้วย ในชุมชนกลางน้ำจะมีทั้งโรงเรียน สถานีตำรวจ ร้านค้า ตลอดจนร้านอาหาร ซึ่งร้านอาหารปัจจุบันก้จะมีดาดฟ้าให้คนขึ้นไปถ่ายภาพวิวด้วย เวลาที่น่าไปเยี่ยมชมที่สุดคือช่วงพระอาทิตย์ใกล้ตก จะเห็นพระอาทิตย์ค่อยๆลับไปในทะเลสาบ และที่สำคัญคือไม่ร้อนด้วย...แต่กรุ๊ปเราไปตอนบ่ายๆ ร้อนสุดๆ


นักท่องเที่ยวเกาหลีลงเรือพายชมวิถีชีวิตของชาวเรือแพ


กลับจากโตนเลสาบ เราเดินทางไปซื้อบัตรเข้าชมปราสาทต่างๆ ซึ่งเขาจะขายแบบเหมารวมใช้ได้ทั้งวันเลย วันที่พวกเราไปซื้อนั้นคนเยอะมาก ดีหน่อยที่เขาแยกตามลักษณะทัวร์ต่างๆ เวลาที่ซื้อบัตรทุกคนต้องไป เพราะเขามีการถ่ายภาพติดบัตรเข้าชมสถานที่ด้วย ใช้เวลาไม่นานครับ บัตรที่ได้เราก็จะห้อยคอไว้เมื่อเข้าชมปราสาทต่างๆ ซึ่งเราจะไปในวันพรุ่งนี้ครับ



ไปซื้อบัตรเพื่อเตรียมเข้าชมปราสาทต่างๆในวันต่อไป



จากการซื้อบัตรเข้าชมปราสาท เราไปชมอนุสรณ์สถานการสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สมัยพอลพตเมื่อช่วงปี 1975 และที่เสียมเรียบนี้ก็เป็นหนึ่งในทุ่งสังหารด้วย.. อาคารเป็นคล้ายๆหออะไรซักอย่าง ในนั้นบรรจุหัวกระโหลกมนุษย์เต็มไปหมด ไกด์บอกเราว่านี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เก็บเอาไว้ รอบๆบริเวณมีภาพถ่ายการสังหารโหดในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเป็นภาพที่หวาดเสียวมาก เช่น เอาสว่านไฟฟ้าเจาะกะโหลกจากด้านหลังกับคนเป็นๆ เป็นต้น

จขบ. เห็นแล้วก็รู้สึกสงสารคนเขมรเขามาก นี่เป็นแค่ความคิดเห็นและอุดมการณ์ที่ต่างกันเท่านั้นนะ คนบางคนถึงกับยอมฆ่าเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพื่อจะไปให้ถึงจุดที่ตัวเองคาดหวังเอาไว้...แต่ผลสรุปก็อย่างที่ทราบครับ กลับมาสู่สังคมแบบเดิมๆที่มนุษย์ต้องการอยู่ร่วมกันแบบมีเสรีภาพทั้งทางกายและความคิดเหมือนเดิม...การเข่นฆ่าที่ผ่านมาจึงเปล่าประโยชน์


อนุสรณ์สถานแห่งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่วัดใหม่



ออกจาการชมอนุสรณ์สถานอันน่าหดหู่ เราก็เดินทางไปกราบพระคู่บ้านคู่เมืองของเสียมเรียบคือ องค์เจ็ก-องค์จอม

ศาลองค์เจ็ก- องค์จอม (เปรี๊ยะอองเจ๊ะขเปรี๊ยะอองจอม) เปรียบเหมือนศาลหลักเมือง สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของเสียมเรียบ ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวนิยมมากราบไหว้สักการะและขอพร ตามประวัติเล่าว่า องค์เจ็กกับองค์จอม เป็นพี่น้องกัน และมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างมาก วันหนึ่งหลังจากไปทำบุญกลับไปก็นอนหลับไม่ตื่นขึ้นมาอีก บิดามารดามีความเสียใจ และอาลัยกับลูกสาวทั้งสองคนอย่างมาก จึงได้สร้างพระพุทธรูปขึ้นมาสององค์ องค์ใหญ่นามว่าองค์เจ็ก องค์เล็กเป็นน้องนามว่าองค์จอม เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของเมืองเสียมราฐ ประชาชนที่นี่ให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก

ข้างศาลนั้นมีพระราชวังของเจ้านโรดมสีหนุด้วย




องค์เจ็ก-องค์จอม พระคู่บ้านคู่เมืองของเสียมเรียบ


จากศาล องค์เจ็ก-องค์จอม ก็ถึงคราวอาหารเย็น วันนี้เขาพาไปทาน Seafood ที่ร้าน ปูแดงซีฟู๊ด (Red Crab Seafood) เป็นแบบบัฟเฟ่ท์อีกครั้ง อาหารโดยรวมแล้วก็พอได้ครับ


กุ้งมังกรที่ร้าน Red Crab Seafood



หลังอาหารค่ำแล้วตามโปรแกรมเรามีการไปเดินตลาดมืดหรือถนนคนเดิน แต่เราขอบายครับ เพราะเดินทงมาทั้งวันเหนื่อยมาก เก็บแรงไปเดินชมปราสาทพรุ่งนี้ดีกว่า


ที่พักเรา 2 คืนที่ Regency Angkor Hotel



เราพักที่โรงแรมรีเยนซี่แอวเคอร์ โฮเต็ล เป็นโรงแรมใหม่ ระดับ 4 ดาว ห้องกว้างขวางดี แต่สร้างไว้สูงแค่ 4 ชั้นเท่านั้น (ปกติโรงแรมที่นี่เขาจะไม่ให้สร้างสูงกว่าปราสาทนครวัด ซึ่งสูงประมาณ 60 เมตร) โดยชาวเขมรเชื่อว่าจะไม่ให้มีสิ่งปลูกสร้างใดๆสูงกว่าปราสาทนครวัด เพราะที่นั่นเทียบเก่าเขาพระสุเมรุซึ่งเป็นที่พำนักของเทพตามศาสนาพราหมณ์ครับ

อาบน้ำเสร็ได้เบียร์ Angkor เย็นๆกระป๋องหนึ่ง นั่งดูบอลผ่านทีวีเขมรจหลับไป .... เจอกันตอนต่อไ ซึ่งจะเป็นวันที่เราเที่ยวชมปราสาทต่างๆครับ


ลาด้วยภาพยามค่ำคืนที่หน้าร้านอาหารปูแดงซีฟู๊ดครับ