วันอังคารที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

พาไปไหว้พระที่วัดป่า ภูก้อน อุดรธานี

วั ด ป่ า ภู ก้ อ น

ช่วงนี้กำลังอยู่ในเทศกาลออกพรรษา หลายๆท่านคงเดินสายทำบุญกันอย่างมีความสุขนะครับ ... สถานที่หนึ่งที่อยากนำมาให้ได้ชม คือที่ๆนักแสวงบุญกำลังนิยมเดินทางไปไหว้พระคือ "วัดป่าภูก้อน" ที่อำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี  ภาพและเรื่องราวในบล๊อกได้รับการปรับปรุง 2 ครั้ง คือครั้งแรกที่เขียนเมื่อปี 2554 และครั้งหลังสุดเมื่อไปไหว้พระอีกครั้ง เมื่อปี 2557 ครับ
4 กันยายน 2554 หลังจากที่เราไปร่วมปลูกป่าที่สวนป่าวังแข้ในวันที่ 3 กันยายน และมอบหนังสือและของเล่นแก่เด็กนักเรียน รร. วังแข้ฯ ในวันที่ 4กันยายน ตอนเช้าแล้ว ก็มีอันต้องจากกกันกับชาวบ้าน แต่ก่อนจากเราเลยอยากรู้ว่า สถานที่สำคัญหรือแหล่งท่องเที่ยวในละแวกนั้นมีที่ไหนบ้าง ก็ได้รับคำตอบว่า “ภูก้อน” นี่แหละ.... ในจริงแล้วเราอยากขับตามทางไปออกถนนสายเลียบแม่น้ำโขง เชียงคาน – หนองคายที่ อ.ปากชม...แต่ต้องย้อนกลับไปทาง อ.น้ำโสม (สวนป่าวังแข้ อยู่ระหว่างเส้นทาง น้ำโสม – ปากชม แต่อยู่เขต อ.นายูง)

ขับย้อนกลับไปที่ทางแยกเข้า อ.นายูง เราก็เลี้ยวซ้าย และประมาณ 10 กว่า กม. ก้ถึงทางแยกเลี้ยวซ้ายเข้าภูก้อน ซึ่งมีป้ายขนาดใหญ่บอกอยู่ข้างทาง มองเห็นไม่ยากนัก วิ่งเข้าไปอีกไม่นานก็ถึงประตูเข้าวัด หลังจากนั้นรถจะขึ้นเขาเล็กน้อย แต่ไม่สูงมาก
ความเป็นมา

วัดป่าภูก้อน ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่านายูงและป่าน้ำโสม ท้องที่บ้านนาคำ ตำบลบ้านก้อง อำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี อันเป็นรอยต่อแผ่นดิน 3 จังหวัด คือ อุดรธานี เลย และหนองคาย กำเนิดขึ้นจากการดำริชอบของพุทธบริษัทสี่ ผู้ตระหนักถึงคุณประโยชน์อันยิ่งใหญ่ของธรรมชาติและป่าต้นน้ำลำธาร ซึ่งกำลังถูกทำลาย

ด้านหลังศาลานี้ เป็นหุบเขาสวยงามมาก



โดยในปี พ.ศ. 2527 พระเดชพระคุณหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ได้เมตตาปรากฏในทิพยนิมิต สั่งให้ไปธุดงค์ทางภาคอีสานเป็นเวลา 10 วัน คุณปิยวรรณและคุณโอฬาร วีรวรรณ พร้อมคณะได้เดินทางมาธุดงค์แถบจังหวัดสกลนครและอุดรธานี เกิดความเลื่อมใสในปฏิปทาของพระป่า จึงได้เข้าช่วยเหลือท่านพระอาจารย์อินทร์ถวาย สันตุสสโก สำนักสงฆ์บ้านนาคำน้อย ในการขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติจัดตั้งเป็นวัดป่านาคำน้อย และปลูกป่าทดแทนฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรมกว่า 750 ไร่ อย่างถูกต้องตามระเบียบของกรมป่าไม้ เพื่อใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติธรรมและอยู่อาศัยของพระสงฆ์

จากนั้นท่านพระอาจารย์อินทร์ถวายได้พาไปดูป่าภูก้อนที่กำลังถูกสัมปทานตีตราตัดไม้ คณะศรัทธาจึงได้ตัดสินใจสร้างวัด โดยกราบอาราธนาท่านพระอาจารย์ชาลี ถิรธัมโม (ปัจจุบันเป็นพระครูจิตตภาวนาญาณ) เป็นประธานและขวัญกำลังใจในการก่อสร้าง และได้ทำเรื่องขอใช้ที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาตินายูง-น้ำโสม เพื่อสร้างวัดในเนื้อที่ 15 ไร่ จากกรมป่าไม้ จนได้รับอนุญาตเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2530 ต่อมาได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกรมการศาสนา จนได้รับอนุญาตให้สร้างวัดในวันที่ 3 กรกฎาคม 2530 และมีประกาศกระทรวงศึกษาธิการตั้งเป็น ‘วัดป่าภูก้อน’ ขึ้นในพระพุทธศาสนาเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2530

 
 
 ภายในเจดีย์มีรูปเหมือนพระอาจารย์หลายองค์ (อัพเดท 2 กย. 57)



องค์พระมหาเจดีย์แห่งนี้ เป็น 1 ใน “โครงการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542” และได้อัญเชิญตราสัญลักษณ์ และพระรูปหล่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาประดิษฐานภายในองค์พระมหาเจดีย์ด้วย

อ่านเพิ่มเติม : http://watpaphukon.org/nav01_01.php


 
ทางขึ้นเจดีย์





ลานจอดรถกว้างขวาง



วิหารพระนอน (อัพเดท 2 กย. 2557)







องค์พระพุทธไสยาสน์ที่สร้างด้วยหินอ่น (อัพเดท 2 กย. 57)



พระพุทธไสยาสน์องค์เดิม



วิหารพระนอนองค์เดิม




อยู่ตรงทางเข้าวิหาร (2 กย. 57)





ทิวทัศน์ของเขาที่อยู่ข้างกัน





บริเวณทางขึ้นวิหาร (2 กย. 57)



ออกจากวัดป่าภูก้อน เราขับเข้า อ.นายูง และออกสู่ทางสายเลียบแม่น้ำโขงที่ อ.สังคม จังหวัดหนองคาย ตอนแรกก็ว่าจะพักทานมื้อเที่ยงกันที่นั่น แต่หาสถานที่เหมาะๆไม่ได้ ก็เลยขับต่อไปอีก 30 กว่า กม.ผ่านวัดหินหมากเป้ง (หลวงปู่เทศก์ เทศรังษี) เข้า อ.ศรีเชียงใหม่และแวะทานมื้อเที่ยงกันร้านเบิ่งโขง ริมแม่น้ำโขง ซึ่งมองเห็นเมืองเวียงจันได้อย่างชัดเจน... หลังมื้อเที่ยง ต่างคนก็ขับกลับกันตามอัธยาศัย...

ทริปนี้เราได้อะไรหลายอย่าง ไม่ว่าการที่ได้ปลูกป่าเพื่อรักษาต้นน้ำโสม แจกหนังสือและของเล่นให้เด็กๆที่อยู่ห่างไกลความเจริญ และได้ไหว้พระด้วย







แผนที่การเดินทาง





วันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2558

แอ่ว...ดอยอ่างขาง




วันนี้ จะพาเดินทางชึ้นเหนือไปไกลสุดถึงโครงการหลวงดอยอ่างขางครับ ไปท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็นในช่วงหน้าหนาว ส่วนจะพาไปที่ใดบ้าง ตามเข้าไปอ่านเลยครับ.

ต้องออกตัวก่อนนะครับ ว่าภาพในบล๊อกนี้อาจจะไม่สดใสเท่าที่ควร เพราะ 1.อากาศช่วงนั้นขมุกขมัวมาก และ 2.กล้องที่ใช้ถ่ายเป็นกล้องสำรอง (ตัวที่ใช้ประจำเดี้ยงอยู่ครับ) ออกตัวไว้ก่อน ... ที่จริงฝีมือไม่มีต่างหาก .... ถึงภาพจะไม่สวย ก็ดูเอาบรรยากาศละกันนะครับ


แผนที่การเดินทาง



เมื่อคืนวันที่ 20 ธันวาคม 2557 เราค้างคืนกันที่โรงแรมแถวๆแม่มาลัย ทางที่จะแยกไปปาย แม่ฮ่องสอน สายใหม่ เพื่อที่จะเข้าใกล้ดอยอ่างขางให้มากที่สุด เพราะไม่เคยไปที่นี่นานแล้วเหมือนกัน อีกอย่างวันนี้เราจะใช้เส้นทางใหม่ (ที่เราไม่เคยใช้มาก่อน) ไกลหน่อยแต่ไม่ชันมาก

เส้นทางนี้จะเริ่มที่ กม. 79 (ตามทาง 107) เลย อ.เชียงดาวไปไม่ไกล แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามถนนหมายเลข 1178 ผ่าน ต.นาหวาย ไปบ้านอรุโณทัย ระยะทางประมาณ 46 กม. แล้วเลี้ยวขวาผ่านโรงเรียนบ้านอรุโฌทัย ไปตามเส้นทาง 1340 ถึงดอยอ่างขางอีก 41 กม. รวมระยะทาง ประมาณ 87 กม. ซึ่งทางนี้เขาไม่ชันมาก แต่ทางค่อนข้างแคบ


 
บ้านอรุโณทัย


เข้าสู่บ้านอรุโณทัยก็ตกใจเล็กๆเหมือนกันว่า เอนี่เราหลงเข้าไปในประเทศจีนแล้วหรือไง เพราะผู้คนที่นี่หน้าตาก็จีนทั้งนั้น...สืบค้นดูจึงรู้ว่านี่คือหมู่บ้านของทหารจีนคณะชาติ เช่นเดียวกับที่แม่สลอง..

หมู่บ้านอรุโณทัยเดิมชื่อ “บ้านหนองอุก” เริ่มมีผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานซึ่งส่วนใหญ่เป็นครอบครัวทหารจีนคณะชาติ(ทจช.) ทัพ 3 ของนายพล หลี่เหวินห้วน หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกองบัญชาการทหารสูงสุด เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2513 เห็นควรให้ทหารจีนคณะชาติ และครอบครัวอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ในฐานะผู้อพยพ

ในช่วงปีพ.ศ. 2513-2525 กองกำลังทหารจีนคณะชาติ(ทจช.) ทัพสามบ้านถ้ำง้อบ และทัพห้าบ้านแม่สลองได้ส่งกำลังทหารของคนในนามกองร้อยอาสาสมัครไทยไปช่วยเหลือทางราชการไทยในการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิส(ผกค.) ทั้งในพื้นที่ดอยผาหม่น จ.เชียงราย และพื้นที่เขาค้อ เขาย่า จ.เพชรบูรณ์ จน ผกค. พ่ายแพ้ในที่สุด ต่อมา เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2521 คณะรัฐมนตรี ได้มีมติให้สิทธิพิเศษแก่ บุคคลที่ช่วยเหลือทางราชการ ในด้านการสู้รบ ส่งผลให้อดีต ทจช. และครอบครัวได้รับสัญชาติไทยเป็นกรณีพิเศษ ... หมู่บ้านอรุโณทัยภายใต้การบริหารงานของผู้นำหมู่บ้าน และคณะกรรมการหมู่บ้านจากชุมชนเล็กๆพัฒนาเจริญก้าวหน้าในด้านต่างๆจนกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่


ระหว่างทางสู่ดอยอ่างขาง


เมื่อขับต่อไปเรื่อยๆ จะเจอด่านทหาร ถ้าตรงไปจะออกชายแดนพม่า เราเลี้ยวขวาไปตาม 1340 เลาะเขาไป ทางจะค่อยๆขึ้นสู่เขาสูงขึ้น แต่สภาพถนนบางช่วงไม่ค่อยดีนัก รถเก๋งเตี้ยควรขับแบบระมัดระวัง โชคดีที่เราใช้ CRV เครื่อง 2400 รุ่นล่าสุด ช่วงล่างสูงหน่อยจึงไม่ค่อยมีปัญหานัก


พักรถ พักคน ชมวิวข้างทาง


ระหว่างทางจะผ่านหมู่บ้าน (ชาวเขา) และที่พักริมทาง มีที่ขายของฝาก พวกชา ผลไม้เมืองหนาวต่างๆ พร้อมทั้งจุดชมวิวและที่เข้าห้องสุขา วันที่เราไปมีรถสวนลงมาไม่มาก อาจเป็นเพราะยังเช้าอยู่ก็ได้


ประมาณ 10 โมงเช้าเราก็ถึงโครงการหลวงดอยอ่างขางอย่างปลอดภัย อากาศที่ดอยช่วงธันวาคมเย็นสบายดี ประมาณ 10 กว่าองศาแม้จะใกล้เที่ยงวันแล้วก็ตาม


ภายในโครงการหลวงดอยอ่างขาง


รู้จักสถานีเกษตรดอยอ่างขางกันหน่อย

สถานีเกษตรหลวงอ่างขางเป็นสถานีวิจัยแห่งแรกของโครงการหลวง จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2512 ตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีพระราชประสงค์ให้ชาวไทยภูเขาที่อาศัยอยู่ตามดอยต่าง ๆ ทางภาคเหนือเลิกการปลูกฝิ่นและทำไร่เลื่อนลอยอันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ป่าไม้และต้นน้ำลำธารของประเทศถูกทำลาย สถานีเกษตรหลวงอ่างขางเป็นสถานีที่ทดลอง ค้นคว้าวิจัยพืชเมืองหนาวเพื่อนำผลการทดลอง ค้นคว้า และวิจัยไปส่งเสริมให้ชาวไทยภูเขาในพื้นที่ปลูกทดแทนฝิ่น

สถานที่ตั้งและลักษณะทั่วไป

- ที่ตั้ง ตั้งอยู่ในเขตหมู่บ้านคุ้มหมู่ที่ 5 ต.แม่งอน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,400 เมตร พื้นที่ประมาณ 1,811 ไร่

- ภูมิประเทศ บริเวณดอยอ่างขางมีลักษณะเป็นแอ่งรูปรีคล้ายกะทะประกอบด้วยเขาหินปูน และเขาหินดินดาน ความลาดชันของพื้นที่ไหล่เขาสองด้านระหว่าง 15 - 45 เปอร์เซ็นต์ ยอดเขาที่สูงที่สุดของเทือกเขาอ่างขางสูงประมาณ 1,920 เมตร พื้นที่ราบบริเวณที่ตั้งของสถานีฯ สูง 1,400 เมตร ลาดจากเหนือลงใต้

- ภูมิอากาศ มีอากาศหนาวเย็นยาวนานและมีอุณหภูมิต่ำมากในฤดูหนาว ภูมิอากาศปี 2554 อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 13.7 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 22.0 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝน (ต.ค.52-ก.ย.54) รวม 2,394.30 มิลลิเมตร

- ประชากรที่อยู่อาศัย มี 9 หมู่บ้านที่รับการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ ดังนี้ หมู่บ้านส่งเสริมหลัก 5 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านขอบด้ง บ้านนอแล บ้านหลวง บ้านคุ้ม และ บ้านปางม้า หมู่บ้านส่งเสริมรอง 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านผาแดง บ้านถ้ำง๊อบ บ้านสินชัย และบ้านป่าคา ประชากร มี 4 ชนเผ่า ได้แก่ ไทยใหญ่ มูเซอดำ ปะหล่อง และ จีนยูนนาน


ที่มา : มูลนิธิโครงการหลวง




ที่พักและร้านอาหาร บนดอยอ่างขาง

- บ้านพักรับรองภายในศูนย์ฯ จำนวน 18 หลัง
ขนาดพัก 2 คน ราคา 1,000-1,200 บาท/หลัง/คืน
ขนาดพัก 6 คน ราคา 1,200-1,800 บาท/หลัง/คืน
และขนาดพัก 40 คน ราคา 150 บาท/คน/คืน

- เต็นท์บริการ ขนาด 2-3 คน ราคา 150 บาท/หลัง/คืน หากรวมถุงนอนราคา 300 บาท/หลัง/คืน ขนาด 4-5 คน ราคา 300 บาท/หลัง/คืน หากรวมถุงนอน ราคา 500 บาท/หลัง/คืน กรณีนำเต็นท์มาเองคิดค่าบริการพื้นที่คนละ 20 บาท

- มีร้านอาหารและเครื่องดื่มภายในสโมสรอ่างขาง
หมายเหตุ.- กรุณาสำรองที่พักล่วงหน้าก่อนเดินทางอย่างน้อย 1 เดือน โทร. 0-5345-0107-9

สถานที่ติดต่อ
- สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง บ้านคุ้ม หมู่ 5 ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ 50320 โทร. 0-5345-0107-9

ในสวนหลวง 80 ปี


ดอกนางพญาเสือโคร่งกำลังบาน


ชาวเขานำสินค้ามาขายหน้าร้านอาหารในโครงการหลวง



การเข้าชมที่โครงการเกษตรดอยอ่างขาง ต้องจ่ายค่าเข้าชมคนละ 30 บาท และถ้าเอารถเข้าคิดคันละ 50 บาท (แนะนำให้ขับเข้าไป เพราะเดินค่อนข้างไกล) ช่วงไปถึงเป็นช่วงเกือบเที่ยง เราแวะจะไปทานมื้อเที่ยงกันที่นั่น แต่โต๊ะเต็มต้องรอคิวนานมาก เราจึงตัดสินใจออกไปหาที่พัก เพราะที่พักด้านในเต็มมานานแล้ว ... เราได้ที่พักชื่อโรงแรมจี๊ดจ๊าดในหมู่บ้านคุ้ม ซึ่งเพิ่งสร้างใหม่เสร็จใหม่ๆ สภาพเยี่ยมห้องละ 1500 บาทรวมอาหารเช้า ... พอบ่ายกว่าๆเราถึงย้อนเข้ามาทานมื้อเที่ยงใหม่ คราวนี้สำเร็จ ... โดยรวมรสชาติอาหารดีครับ



ร้านอาหารในโครงการหลวง



สวนในโครงการฯ



โรงแรมจี๊ดจ๊าด ที่พัก



ฐานปฏิบัติการบ้านนอแล


ฐานของพม่าที่อยู่บนเขาอีกลูก


ฐานของพม่าที่อยูติดกับฐานเรา


ขบวนบิ๊กไบท์ที่เข้ามาชมฐานปฏิบัติการบ้านนอแล


ร้านขายของฝากหน้าฐานนอแล



วิวก่อนขึ้นฐานนอแล




 
วิวจากบ้านขอบด้งและไรสตอเบอรี่


หมู่บ้านขอบด้ง เป็นหมู่บ้านของชาวมูเซอดำ ซึ่งภายในหมู่บ้านจะมีศูนย์หัตถกรรมที่ จำหน่ายสินค้าที่ระลึก เช่น กำไลหญ้าอิบูแค ตะกร้า... บ้านขอบด้งอยู่ทางเดียวกับเส้นทางไปฐานปฏิบัติการบ้านนอแล จะมีป้ายบอกทาง ถึงป้ายเลี้ยวขวาเข้าไปจะเป็นถนนคอนกรีตลงเขาเล็กน้อย ทางแคบต้องระวัง ขับเข้าไปจอดหน้ามูลนิธิในหมู่บ้านได้เลย .. รอบๆหมู่บ้านจะมองเห็นไร่สตอเบอรี่มากมาย





ไนท์ไลท์ที่บ้านคุ้ม ดอยอ่างขาง


ที่พักเราในยามค่ำคืน


 
เด็กๆไปโรงเรียนท่ามกลางอากาศหนาวเย็นในตอนเช้า


บรรยากาศยามเช้าที่ อ.ฝาง เชียงใหม่


เราออกเดินทางจากบ้านคุ้ม หน้าโครงการหลวงดอยอ่างขางไปตามเส้นทาง 1249 เพื่อไปสู่เส้นทาง 107 (เชียงใหม่ - ฝาง - ท่าตอน) ที่แยกหน้าวัดหาดสำราญ แล้วเลี้ยวซ้ายเพื่อไปฝาง ท่าตอน และต่อไปที่ดอยแม่สลอง โดยมีโปแกรมไหว้พระและชมไร่ชาที่นั่น ..

มาดอยอ่างเที่ยวนี้ได้เห็นอะไรเปลี่ยนแปลงมากมาย หมู่บ้านคุ้มพัฒนาขึ้นไปมาก โรงแรมและรีสอร์ทมากมาย ที่เที่ยวปรับเปลี่ยนสภาพไปเยอะ ที่เยอะที่สุดน่าจะเป็นนักท่องเที่ยว เยอะก็คงไม่ใช่ปัญหาอะไร ถ้าทุกคนรู้จักรักษาสภาพที่เที่ยวให้คงไว้แบบที่เป็นอยู่ ไม่สร้างมลภาวะให้กับธรรมชาติ เช่นขยะ .... ธรรมชาติเหล่านั้นก็จะอยู่กับเรานานขึ้นหรือไม่ ก็อยู่ที่เรานี่แหละครับว่าจะให้วันข้างหน้าเป็นเช่นใด


เช้าวันนั้นที่ดอยอ่างขางหนาวมาก เราเปิดแอร์ที่รถ 24 องศา เหมือนกับว่าเราเปิดฮีตเตอร์ซะงั้น เส้นทาง 1249 กว้างแต่จะชันมาก ... แนะนำว่าให้เอาไว้เป็นขาลงดีกว่าเพราะใกล้ (น่าจะ 35 กม.) ใช้เกียร์ต่ำๆเข้าไว้ครับเพื่อให้เครื่องยนต์ช่วยฉุดรั้งรถไว้ให้เรา การใช้เบรคมากๆต้องระวังความร้อน เห็นหลายคันจอดเสียข้างทางเหมือนกัน ... เวลาเบรคมีความร้อนมากๆ เช่นควันขึ้น ต้องปล่อยให้ค่อยๆเย็นลงนะครับอย่าเอาน้ำไปสาดใส่ล้อ (เห็นหลายคนทำกัน) เดี๋ยวจานเบรคที่ทำด้วยเหล็กหล่อจะมีปัญหา ... ก็ขอให้ทุกคนที่วางแผนจะไปเที่ยวดอยอ่างขางจงมีความสุขในการท่องเที่ยวดอยนะครับ



ขอบคุณที่ติดตามอ่าน แล้วเจอกันใหม่ในบล๊อกหน้าครับ


ลาด้วยภาพเส้นทางที่ออกจากดอยอ่างขางภาพนี้ครับ